ผ่านสินเชื่อ19.5ล้าน 520ราย ตามโครงการยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
รองผู้ว่าราชบุรีเปิดโครงการยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดย ธนาคาร ธ.ก.ส. เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบริจาคโลหิตเนื่องในโอกาสครบรอบปีที 53
( 1 พ.ย. 62 ) ที่สำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. อ.เมือง จ.ราชบุรี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายวินัย เนียมเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก นายเศกสันต์ สุขพิทักษ์ ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. นายไพบูลย์ หนาแน่น ผู้จัดการสาขาราชบุรี เข้าร่วมกิจกรรม โดยกระทรวงการคลังได้เริ่มกดปุ่มเปิดตัวโครงการ “ แก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ ” เมื่อเดือน มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งวางเป้าหมายในการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ และครบวงจร พบว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 กระทรวงการคลังได้ออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไปแล้ว 386 ราย ใน 64 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้มีที่จ.ราชบุรี 3 ราย และสามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบของจ.ราชบุรี โดยสำนักงาน ธ.ก.ส. จ.ราชบุรี มีผลการดำเนินงานสะสม ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ตามมิติที่ 2 โดยสนับสนุนสินเชื่อให้กับลูกหนี้นอกระบบ ของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน จำนวน 520 ราย เป็นเงิน 19.5 ล้านบาทเศษ
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเปิดเผยว่า “ หนี้นอกระบบ ” ถือเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยากจนในปัจจุบัน จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล ที่จะต้องส่งเสริมและขยายศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของประชาชน เพื่อให้สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะหลุดพ้นจากภาระหนี้สิน ผลักดันโครงการสินเชื่อ “นาโนไฟแนนซ์” (สำหรับประกอบอาชีพ)และ “พิโกไฟแนนซ์” (สินเชื่อรายย่อย เอนกประสงค์) ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อตัดวงจรปัญหาการกู้เงินนอกระบบ ส่งเสริม ช่องทางเข้าถึงสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยธนาคาร ธ.ก.ส. และการส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับ วินัยทางการเงิน ยึดหลักความพอเพียง ต้องออมก่อนใช้ เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีกครั้ง
หนี้นอกระบบ คือการกู้หนี้ทั้งในรูปของตัวเงินและสิ่งของที่อยู่นอกระบบ สถาบันการเงิน และไม่ได้จดทะเบียนหลักประกันสัญญา ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง โดยการกู้หนี้ยืมสินไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักฐานการกู้ยืมเงิน และมักจะเรียกอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 10 ต่อวัน ทำให้ลูกหนี้ต้องตกอยู่ในกับดักหนี้สินอย่างไม่มีทางเลือก
นายวินัย เนียมเงิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก กล่าวว่า สำหรับ ธ.ก.ส. มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป โดยมีการตั้งจุดขอรับคำปรึกษาเพื่อหาทางออกจากปัญหาหนี้สินนอกระบบทุกสาขาทั่วประเทศ และพร้อมสนับสนุน สินเชื่อเพื่อแก้หนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ไม่เกิน 1 แสนบาท กรณีเพื่อสงวนที่ดินคืน ไม่เกิน 150,000 บาท และสินเชื่อรายย่อย เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้
อย่างไรก็ตามภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมสัปดาห์วันออมแห่งชาติ – วันสถาปนาธนาคาร ครบปีที่ 53 ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2562 กิจกรรมรับบริจาคโลหิต การจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรได้กู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. ไปลงทุนแล้วนำผลผลิตทางการเกษตร ทั้ง ฝรั่ง ปลาน้ำจืด และการจำหน่ายผ้าทอพื้นเมือง เป็นต้น..
////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ธกส.เคลียร์หนี้นอกระบบ
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
01:17
Rating: