อัตลักษณ์ตัวตนคนกะเหรี่ยงฟื้นวิถีชีวิตชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่า
ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่า อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ลงแขกปลูกข้าวไร่ เริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ช่วงเดือน 8 ก่อนปลูกทำพิธีบูชาแม่ธรณี แม่โพสพ เป็นการฟื้นวิถีชีวิตชุมชนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
( 23 มิ.ย. 63 ) ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่า หมู่ที่ 1 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ได้ร่วมกันลงแขกปลูกข้าวไร่ ที่หมุนเวียนมาบรรจบครบรอบของการเริ่มต้นปลูกข้าวในฤดูกาลใหม่ปีนี้ช่วงเดือน 8 ย่างเข้าสู่หน้าฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ที่ภาครัฐกันเขตออกมาให้ราษฎรอยู่เดิมได้ทำกิน เพื่อแลกกับการบุกรุกพื้นที่ป่า หลังจากปรับสภาพพื้นที่บริเวณภูเขาลักษณะลาดชันให้เหมาะแก่การปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่าที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย การลงแขกปลูกข้าวจะหมุนเวียนไปช่วยกันปลูก โดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน ถือเป็นการสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดกับชุมชน เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และยังคงมีการสืบทอดให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษา ช่วยกันอนุรักษ์ไว้สืบไป
การลงแขกปลูกข้าวครั้งนี้ มีนายสุทธิพงษ์ พุทธจันทรา นายอำเภอบ้านคา นายพินิจ ร่มโพรีย์ นายก อบต.บ้านบึง นางจิระนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.ราชบุรี นายนัฐยุทธ์ ร่มโพรีย์ กำนันตำบลบ้านบึง นายชูศิลป์ ชีช่วง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านบึง พร้อมด้วยชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกะม่า ที่ร่วมแรงร่วมใจกันมาลงแขกปลูกข้าวไร่หมุนเวียน เป็นการผูกมัดใจของคนในชุมชนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ก่อนปลูก จะมีพิธีขอขมาต่อพระแม่ธรณี ว่าจะมีการนำพระแม่โพสพมาอยู่มาปลูก ด้วยการจัดพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ขุดหลุม 9 หลุม พร้อมมีหมาก พลู ดอกไม้เป็นดอกดาวเรืองมาเป็นของบูชา ให้กับแม่โพสพและแม่ธรณี ก่อนที่ผู้สูงอายุจะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวกล่าวคำขอขมาแล้วหยอดลงหลุมปลูกข้าว 9 กอ เป็นความเชื่อว่า หากได้ปฏิบัติขอขมาแล้ว จะทำให้ต้นข้าวอุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงาม ได้ผลผลิตดี
นายชูศิลป์ ชีช่วง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 กล่าวว่า การทำพิธีเป็นผู้สูงอายุมีความรู้ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมา การทำพิธีเป็นความนอบน้อมต่อธรรมชาติ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจว่า ที่มีข้าวครูอยู่ตรงที่ทำพิธีนี้ จะต้องเป็นพันธุ์ข้าวที่คัดไว้อย่างดี ส่วนข้าวที่ปลูก 9 กอ ในพิธีนี้ต่อไป เมื่อข้าวตั้งท้องก็จะมาทำพิธีบูชาแม่โพสพตรงนี้อีก เหมือนคนท้องอยากกินอะไรก็ต้องมีของหอมมาทาให้ มีอาหารคาวหวาน ที่จะบำรุงต้นข้าวเหมือนบำรุงให้กับมนุษย์ โดยชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าตรงนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ เป็นความผูกพันที่มีต่อกันมา ปัจจุบันมีบางไร่ไม่ได้ทำกันแล้ว เพราะลูกหลานอาจจะทำไม่เป็นและไม่เห็นความสำคัญ แต่สำหรับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงที่จะพยายามรื้อฟื้นขึ้น โดยขอให้ไร่ไหนที่ยังคงทำอยู่ก็ขอให้ทำต่อไป ส่วนไร่ไหนที่เลิกทำแล้วก็ขอให้ฟื้นกลับมาทำใหม่อีกครั้ง วันนี้จึงมาส่งเสริมหยอดข้าวไร่ให้ทุกคนเห็นความสำคัญตามแบบโบราณบรรพบุรุษที่มีสืบต่อกันมา เพราะหากเราดูแลธรรมชาติดี ธรรมชาติก็จะดูแลเรากลับคืน
สำหรับการปลูกจะมีการลงแขกช่วยกัน ช่วยประหยัดค่าแรง สร้างความรักสามัคคีในชนเผ่านี้ด้วย คนไหนสนใจอยากมาร่วมกิจกรรมสามารถเข้ามาได้ ถือเป็นการสร้างเครือญาติร่วมกัน และยังได้ขึ้นมาเที่ยวดูทัศนียภาพบนยอดเขา ดูวิถีชีวิตการหยอดข้าวไร่กะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพทนความแล้ง ทนฝน คุณภาพของข้าวดีมาก มีนักวิชาการด้านการเกษตรเคยนำไปวิจัยแล้วบอกว่า ข้าวซ้อมมือของข้าวไร่เป็นพันธุ์ข้าวที่ดีมากในด้านสรรพคุณ นอกจากนี้ห่างระยะไปประมาณ 1 เดือน จะมีฝูงนกเงือก ฝูง ๆ ละ 50 - 60 ตัว พาบินกันมาหาคู่ หากินลูกไม้ พอจับคู่ได้ ลูกไม้หมดกินก็จะกลับถิ่น ที่นี่จึงมีการอนุรักษ์เรื่องของนกเงือกด้วย
นางจิระนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.ราชบุรี กล่าวว่า เดิมเคยทำงานร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ราชบุรีเรื่องความเป็นตัวตน อัตลักษณ์ของพี่น้องยังไม่ค่อยชัดเจน จึงพยายามค้นหาลงพื้นที่คุยกับชุมชนว่าอยากค้นหาตัวตนของชาวกะเหรี่ยงราชบุรีจริงๆว่ามีด้านไหนบ้าง มีด้านหนึ่งที่ค้นเจอคือ วิถีการปลูกข้าวไร่ เป็นการแสดงการมีตัวตนว่าเขาได้อยู่สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างไร โดยการปลูกนี้จะแตกต่างจากคนพื้นราบทั้งหมด เพราะจะปลูกแนวความสูงของภูเขา ซึ่งได้ส่งเสริมมา 2 ปีแล้วเรื่องของการฟื้นฟู แต่เรื่องการปลูกข้าวไร่ไม่ได้ทำเรื่องการปลูก แต่จะฟื้นทั้งกระบวนการตั้งแต่การปลูก อีก 4 เดือนจะถึงฤดูเก็บเกี่ยว และในช่วงเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม จะทำเรื่องงานบุญข้าวใหม่เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ตัวตนของพี่น้องกะเหรี่ยง เรื่องการขอบคุณพระแม่โพสพ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างลงตัว ซึ่งคนภายนอกจะได้เห็นว่าเขาอยู่ตรงนี้เป็นคนที่อยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้เป็นคนที่ทำลายธรรมชาติ และจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของพี่น้องที่หลายคนจะเรียกเขาว่าเป็นชาวเขา
โดยเรื่องข้าวไร่เป็นเพียงเรื่องเดียว แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่กำลังคิดทำอยู่ด้วย โดยเฉพาะในแนวภาคตะวันตกนั้นมีพี่น้องที่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จึงอยากให้มองเห็นอย่างชัดเจนเรื่องนี้อย่างจริงจัง หากทำตรงนี้ให้คนภายนอกหรือส่วนราชการเห็นตัวตนที่แท้จริงจะเกิดความมั่นคงในเรื่องที่ดินทำกิน ความมั่นคงเรื่องที่พวกเขาจะอยู่ตรงนี้ได้ จะเกิดความเข้าใจระหว่างภาครัฐ ภาคชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ คือเป้าสูงสุดที่อยากให้เกิดขึ้น
ซึ่งบรรยากาศการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน เยาวชน ชาวบ้านแต่งกายชุดชนเผ่ากะเหรี่ยงมาร่วมพิธีปลูกข้าว เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นได้นำอุปกรณ์คล้ายพลั่วต่อไม้ยาวเป็นด้ามจับ แซะดินให้เป็นหลุมขนาดเล็กเป็นแถวไล่ระดับลงมา ส่วนอีกชุดก็จะนำเมล็ดข้าวเปลือกที่ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ เทใส่มือแล้วหยอดลงหลุมก่อนใช้ดินกลบตาม ถือเป็นภาพความสามัคคีของชาวบ้านในชุมชนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันที่จะช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมการปลูกข้าวไร่ ให้คงอยู่คู่กับผืนแผ่นดินไทยและมีการสืบทอดต่อไปจนถึงลูกหลานไปยาวนาน
////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ปลูกข้าวไร่กะเหรี่ยง
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
00:16
Rating: