"เตาอั้งโล่"ของดีที่ถูกลืม จากรุ่นปู่สู่รุ่นหลานคนสุดท้าย
พาไปดูภูมิปัญญาการปั้นเตาอั้งโล่ของดี จ.ราชบุรี ที่สืบทอดมาจากรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ปัจจุบันกำลังจะเลือนหาย เหลือเพียงหลานชายคนสุดท้ายที่ยังสืบทอด เทศบาลตำบลหลักเมือง เตรียมนักเรียนเข้าศึกษาเพื่อต่อยอดให้เตาอั้งโล่คงอยู่คู่ตำบล
จังหวัดราชบุรี มีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผามาแต่สมัยโบราณ เป็นศิลปะที่สืบทอดมาจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ทั้งการปั้นโอ่งมังกร ปั้นกระถาง รวมถึงการปั้นเตาอั้งโล่ ที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในชุมชน ต.โคกหม้อ อ.เมือง
จากฝีมือคุณปู่กรี ทับทิมทอง อายุ 81 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128 หมู่ 3 ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาการปั้นเตาอั้งโล่ให้กับ นายพงศธร ทับทิมทอง ซึ่งเป็นหลานชาย ที่มีใจรักหลงเหลือเพียงคนเดียวของครอบครัว หลังจากที่ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนจนเกิดความชำนาญ แต่ด้วยขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาในการปั้นรูปทรง การตกแต่ง และนำไปตากแดด และต้องรอให้แห้ง จึงจะนำไปเข้าเตาเผาได้ ต้องใช้เวลาข้ามวัน ข้ามคืน กว่าจะได้เตาอั้งโล่ ที่ผ่านกรรมวิธีเผาออกมาได้สมบูรณ์รอการตกแต่งทาสีอีกเล็กน้อยพร้อมส่งจำหน่ายได้
นายพงศธร ทับทิมทอง อายุ 29 ปี ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่สืบทอดในรุ่นปู่กรี กล่าวว่า เริ่มปั้นเตาอั้งโล่เมื่ออายุประมาณ 5 - 6 ปี ได้วิชาความรู้มาจากปู่เป็นคนสอน เริ่มจากแช่ดินไว้ประมาณ 1 คืน การปั้นด้วยการนำขี้เถ้าโรยบริเวณด้านเบ้า จากนั้นจึงนำดินใส่ เมื่อได้รูปทรงแล้วก็นำไปเทลองคว่ำ จากนั้นจะตกแต่งบริเวณปากเตาจนเสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดประมาณ 1-2 วัน ก่อนเอาเข้าเตาเผาในอุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียส ใช้เวลานาน 7 ชั่วโมง 1 เตาสามารถเผาได้ประมาณ 200 ลูกในคราวเดียวกัน ส่วนมากเตาอั้งโล่จะเอาไว้ใช้หุงข้าว หุงต้มทั่วไป ตามบ้านป่าชนบท ก็ยังคงใช้กันอยู่ ให้ฟืน ถ่าน เป็นเชื้อเพลิงในการทำอาหาร หลายคนยังอนุรักษ์ใช้เตาลักษณะนี้อยู่ หากเปรียบเทียบระหว่างปัจจุบัน และสมัยก่อนจะแตกต่างกัน มีจำนวนลดน้อยลงบ้าง จากที่ได้พัฒนาระบบมาเป็นเตาหุงต้มแบบใช้แก๊สทันสมัย และไฟฟ้าแล้ว
อาชีพปั้นเตาอั้งโล่ ยังหลงเหลืออยู่ ในพื้นที่ราชบุรีประมาณ 20 โรง เช่น ตำบลเจดีย์หัก แต่ส่วนที่ตำบลโคกหม้อเหลือที่บ้านแห่งเดียว ส่งขายหลายจังหวัด เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี แต่ช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดทำให้ยอดขายไปเรื่อย ๆ ที่นี่จะขายราคาส่งตั้งแต่ขนาดเล็กลูกละ 50 บาท ขึ้นไปถึงกว่า 100 บาท ”
ส่วนขั้นตอนการปั้นนั้น เป็นรูปเตาอย่างเดียว ได้มากถึงวันละกว่า 100 ลูก ส่วนขั้นตอนที่เหลือต้องใช้ระยะเวลาการทำ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดใช้หม้อหุงข้าวเก่า ๆ มาประยุกต์ปั้นเป็นเตาย่างหมู ย่างกล้วย แล้วแต่ลูกค้าจะนำรูปแบบมาให้ทดลองปั้น เช่น เตาจิ้มจุ่มขนาดเล็กมีทั้งหม้อและเตาในชุดเดียวกัน ขายส่งชุดละ 150 - 160 บาท ซึ่งคิดว่าการปั้นเตาอั้งโล่ก็ยังคงทำขายต่อไปเรื่อย ๆได้อยู่ และอาจจะเหลือแต่ตัวเองที่ยังทำอาชีพนี้อยู่คนเดียว คงไม่มีผู้สืบทอดอาชีพนี้อีกแล้ว เพราะการทำอาชีพนี้ต้องทำด้วยใจรักถึงจะทำได้ อนาคตมองว่าหากมีคนปั้นน้อยลง ก็อาจจะไม่ต้องเอาใส่รถไปขายส่งที่อื่น แต่จะทำขายอยู่กับบ้านก็น่าจะมีพ่อค้า แม่ค้ามารับซื้อแทน
ทั้งนี้ นายสินาด รุ่งจรูญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักเมือง พร้อมด้วยนางสาวชูษร โฆษะบดี รองนายกฯได้เดินทางไปศึกษาดูวิธีการปั้นเตาอั้งโล่ เพื่อหาแนวทางในการต่อยอด เพื่อสืบสานการเป็นภูมิปัญญาในอยู่คู่กับท้องถิ่นตำบลโคกหม้อ
นายสินาด รุ่งจรูญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักเมือง กล่าวว่า เป็นโอกาสดี เพราะว่าเตาอั้งโล่ที่ชาวบ้านทำใช้เป็นผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล ของเทศบาลตำบลหลักเมือง มีแห่งเดียวอยู่ที่ ต.โคกหม้อ น่าที่จะสืบสานต่อเพราะทางเทศบาลพยายามให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะนักเรียนโรงเรียนเทศบาลหลักเมือง อาจจะมาทัศนศึกษาดูงานการปั้นเตาอั้งโล่ เรียนรู้วิธีการปั้นเพื่อจะให้มีความรู้ และอาจจะนำไปสร้างความคิด หรือ ไอเดีย เพื่อทำเตาไว้ใช้ในครัวเรือนของแต่ละบ้านได้ และยังถือว่าโชคดีที่มีโรงโอ่งหลายโรง เพราะดินที่นำมาใช้ก็สามารถหาได้ในพื้นที่มาเป็นส่วนผสม เตรียมให้เทศบาลและกองการศึกษา ช่วยระดมความคิดนำความรู้เอามาใช้ ส่วนหนึ่งจะนำเด็กมาเรียนรู้กับคุณปู่กรี ถึงการปั้นเตาอั้งโล่ให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น โดยชุมชนโคกหม้อถือเป็นแหล่งผลิตเตาที่ดีที่สุดเพราะนำออกไปขายต่างจังหวัดหลายแห่ง ทุกวันนี้คนปั้นก็เริ่มลดน้อยลง เด็กไม่มีกิจกรรมที่ดีก็จะเล่นแต่เกม อนาคตจะนำเด็กนักเรียนในชุมชนมาศึกษาหาความรู้ ชุมชนไหนอยากศึกษาเรียนรู้ทางเทศบาลตำบลหลักเมืองจะส่งเสริมสนับสนุนด้วย
การปั้นเตาอั้งโล่ จึงถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อยู่คู่ตำบลโคกหม้อมาอย่างช้านาน และได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ปัจจุบันคงเหลือลูกหลานเพียงคนเดียว ที่มีใจรัก หากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นความสำคัญ และร่วมกันอนุรักษ์ของดีในท้องถิ่น ควรที่จะหันมาร่วมกันสืบสานต่อยอดศิลปะการปั้นเตาอั้งโล่ให้คงอยู่คู่กับชุมชนไปชั่วลูกหลาน ก่อนที่เตาอั้งโล่จะเลือนหายเหลือเพียงชื่อ....
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามหรือไปศึกษาดูงานได้ที่ นายพงศธร ทับทิมทอง เบอร์ 063-7963995 หรือ ติดต่อไปที่เทศบาลตำบลหลักเมือง
//////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
เตาอั้งโล่ ของดีที่ถูกลืม
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
02:55
Rating: