ภูมิปัญญาคนเจ็ดเสมียน

 ภูมิปัญญาคนเจ็ดเสมียน ทำถ้วยใส่อาหารจากใบตอง

ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริชุมชนเจ็ดเสมียนนอก ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นำใบตองที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าประดิษฐ์ทำถ้วยใส่อาหาร รักษาสิ่งแวดล้อม  

    

ที่ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริชุมชนเจ็ดเสมียนนอก ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562  ได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้าน ได้เรียนรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนารถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่การปลูกพืชผัก ผลไม้ และปลูกพืชแบบผสมผสานในชุมชนมาได้กว่า 1 ปีเศษแล้ว 

         

ต้นกล้วยคือหนึ่งในกิจกรรมการเพิ่มมูลค่า ที่ทางกลุ่มช่วยกันตัดมาทำถ้วยใส่อาหาร  ในส่วนของใบตอง หรือ ใบกล้วย ที่นอกจากจะนำไปใช้ห่อขนม ทำบายศรี ตามงานพิธีต่าง ๆ ได้แล้ว ลำต้นยังใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง ทั้งนำมาสับผลิตอาหารให้สัตว์ไก่ หมู หรือจะนำไปประดิษฐ์สิ่งของไปอีกมากมาย ใบตองยังสามารถนำมาประดิษฐ์ทำเป็นถ้วยใส่อาหารคาว หวาน ได้อย่างสวยงามเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

     

นางดวงสมร  วงศ์ยะลา อายุ  55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ 2 ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม ประธานศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริชุมชนเจ็ดเสมียนนอก ต.เจ็ดเสมียน  เปิดเผยว่า ที่ไร่ปลูกพืชผัก ผลไม้ แบบผสมผสาน  นำใบตองจากกล้วยน้ำว้า มาเพิ่มมูลค่าในการลดปัญหาโลกร้อนให้กับชุมชน โดยร่วมกับเพื่อน ๆ มาช่วยกันทำถ้วยใบตองเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น ขั้นตอนทำไม่ยาก  ตัดใบตองจากไร่ที่แก่ใช้ได้ นำมีดเจียนออกจากแกนแล้วใช้ผ้าเช็ดให้สะอาด ใช้จานวางเป็นแบบกรีดตามรูปเป็นวงกลม จากนั้นนำมาซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น และ 4 ชั้น ส่วน 3 ชั้นนั้นเมื่อเป็นแล้วไว้ใส่จำพวกอาหารแห้ง ขนมหวาน แต่หากจะนำไปใส่อาหารที่เป็นจำพวกน้ำให้ซ้อนรวมกัน 4 ชั้น เพิ่มความหนามากขึ้น จากนั้นนำไปเข้าเครื่องขึ้นรูปภาชนะใบไม้แล้วค่อยกดลงไปเป็นรูปร่างใช้ความร้อนประมาณ 200 องศาเซลเซียส กดแช่อยู่ประมาณ 1.30 - 2 นาที  เมื่อได้เวลาก็ยกเครื่องออกนำกรรไกรมาตัดตกแต่งขอบถ้วยให้ดูเรียบร้อยสวยงาม ซึ่งจะได้กลิ่นหอมใบตองอ่อน ๆ คล้ายกลิ่นข้าวเหนียวย่างด้วย  โดยถ้วยที่ได้จะเอาไว้ใช้ในงานของชุมชน เครื่องขึ้นรูปที่ศูนย์ฯ มีเพียง 1 ตัว ทำให้ผลิตไม่ทัน ตอนนี้กำลังคิดทำตลาดนวัตวิถีเชิงท่องเที่ยว ซึ่งจะนำถ้วยใบตองไปใช้ใส่อาหารในตลาด แม่ค้าทุกร้านที่จะจำหน่ายสินค้า อาหารต่าง ๆ ได้ประชุมกันขอให้ใช้ภาชนะที่ทำจากใบตองเป็นวัสดุใส่อาหารทดแทนวัสดุอื่น เพื่อร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มแม่บ้านในชุมชนด้วย

                 

สำหรับถ้วยใบตองที่ตัดแต่งของเสร็จแล้วจะนำใส่ถุงพลาสติกไว้สามารถอยู่ได้นานประมาณ 1 เดือน แต่หากใส่อาหารไปแล้วจะอยู่ได้นานประมาณ 1 อาทิตย์ก็จะคลายตัว  แต่จะไม่แนะนำให้เอาไว้ใส่อาหารที่มีน้ำ เนื่องจากได้ขึ้นรูปถ้วยด้วยความร้อน พอไปโดนความร้อนอีกก็จะทำให้คลายตัวเร็วขึ้น  ถ้าเป็นขนมทอด อาหารแห้ง ๆ จะใช้ได้ดีมากกว่า 

               

นางดวงสมร  วงศ์ยะลา ประธานกลุ่มฯ ยังบอกอีกว่า  อนาคตคิดจะผลิตขายหากมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแลช่วยเหลือสนับสนุนด้านอุปกรณ์ เนื่องจากเครื่องขึ้นรูปภาชนะใบไม้ที่ศูนย์มีเพียงตัวเดียวไม่พอทำ  เพราะมีราคาค่อนข้างแพง ตัวละเกือบ 30,000 บาท  ที่ศูนย์ฯใช้งบส่วนตัว  มีแนวคิดอยากจะให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นของชุมชน ผู้สูงอายุก็สามารถทำได้ เคยทดลองขายให้แม่ค้าในตลาดใบละ 2.50 - 3 บาท เช่น งานประเพณีลอยกระทงที่ผ่านมา  ยังได้นำถ้วยใบตองมาประดิษฐ์ใส่ดอกไม้ ธูปเทียนเป็นกระทงที่สวยงามขายแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจมาแล้วขายใบละ 20 บาท และยังย่อยสลายง่ายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนด้วย     


ศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริชุมชนเจ็ดเสมียน  ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปี แล้ว ต่อมาทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้เพิ่มเติม เมื่อ ปี พ.ศ. 2562  โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา  ทำให้มีหลายหน่วยงานสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ นำไปพัฒนาพื้นที่ก่อเกิดประโยชน์แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน                

//////////////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี




ภูมิปัญญาคนเจ็ดเสมียน ภูมิปัญญาคนเจ็ดเสมียน Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 02:10 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.