30 พิพิธภัณฑ์ภาคกลาง


30 พิพิธภัณฑ์ภาคกลาง จับมือจัดงาน"วิถีวัฒนธรรม"

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จับมือเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง เตรียมจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง "วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ" ภายใต้แนวคิด "5 สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง" ณ โรงมหรสพหนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หวังเป็นแหล่งศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาพื้นถิ่น  

                 

( 27 ต.ค. 63 ) นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  นายนพรัตน์ รัตนพานิช นายอำเภอโพธาราม นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พระครูพิทักษ์ศิลปาคม  เจ้าอาวาสวัดขนอน และประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง นางสาวสรียา บุญมาก  ผอ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี  ดร.นภสร  โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัด แถลงข่าวเตรียมจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง "วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ" ภายใต้แนวคิด "5 สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง" ณ โรงมหรสพหนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม ระหว่างวันที่ 20 -22 พฤศจิกายน 2563  โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เปิดพื้นที่ให้คนทำพิพิธภัณฑ์มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งการทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย การสนับสนุนการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ งานอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ งานประชุมเชิงวิชาการและงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 

ในปีนี้ทางศูนย์ฯได้ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลาง 30 แห่ง จัดงานดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่นำเสนอเอกลักษณ์ ชาติพันธุ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคกลาง ผ่านพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ภาคกลางที่สะสมความรู้และมรดกวัฒนธรรมด้านต่างๆ สะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมา และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นภาคกลางที่มีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่ และประชาชนได้เรียนรู้สัมผัสภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นตัวตนของชุมชนนำมาสู่ความเข้าใจ ผ่านรูปแบบ นิทรรศการกิจกรรมการสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรม

           

นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  เปิดเผยว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร เป็นองค์กรหลักด้านการจัดการข้อมูลความรู้ด้านมานุษยวิทยา เพื่อสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่มีคุณภาพ และบูรณาการเครือข่ายมานุษยวิทยา  ขับเคลื่อนงานส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรยังได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น" มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี  2546  ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมพลังเครือข่าย รวมถึงสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่เอื้อให้เกิดการหนุนเสริมเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เครือข่าย สามารถพัฒนาศักยภาพเกิดความเข้มแข็ง 

             

ด้านพระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน ในฐานะประธานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง เปิดเผยว่า การจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง "วิถี วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ"  ถือว่าเป็นการจัดงานครั้งแรกของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง ที่ได้รวมตัวกันจนเป็น "เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง" เริ่มจากหนึ่งและสองจนขยายเป็นทั้งหมด 30 แห่ง ทั้งภาคกลาง 14 จังหวัด แบ่งเป็น 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่  

1. แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์จันเสน พิพิธภัณฑ์เรือไทย พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร บ้านหัตถกรรม ศิลป์สร้างสุข พิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านกวานอาม่าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านขุนสมุทรจีน 

2. แม่น้ำป่าสัก- ลพบุรี ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดฝั่งคลอง ศูนย์เฉลิมราชย์ บ้านดงกระทงยาม พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย และพิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านหลุมข้าว 

3. แม่น้ำแม่กลอง ประกอบด้วย  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว พิพิธภัณฑ์ตั้งเซี่ยมฮะ  เบญจมาราชูทิศพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์วัดขนอน 

4. แม่น้ำท่าจีน ประกอบด้วย ศูนย์ฟื้นฟูไตดำโบราณ  บ้านเก่าเล่าเรื่อง ตลาดบางหลวง พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทยบ้านลานแหลม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสำโรง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนคลองผีเสื้อ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด และพิพิธภัณฑ์บ้านวัดห้วยตะโก 

5. แม่น้ำเพชรบุรี ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้กลุ่มสไบมอญ  บ้านชะอาน พิพิธภัณฑ์ปานถนอม สมบัติลุ่มน้ำเพชร และศูนย์เรียนรู้เพื่อนศิลป์ ดินไอเดีย   จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ต่างๆจากทุกสารทิศในกลุ่มเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางได้รวมตัวขึ้น  ถึงแม้จะมีความแตกต่างระหว่างกันของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง แต่กลับพบว่ามีอัตลักษณ์ร่วมสำคัญที่เชื่อมโยงกันอยู่ 3 ประการ คือ วัฒนธรรมทวารวดี ชาติพันธุ์ และวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในทุกวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่

                  

ภายในงานแถลงข่าวมีการจัดนิทรรศการแบบย่อ จากตัวแทนของ 5 สายน้ำ เช่น เครือข่ายแม่น้ำป่าสัก – ลพบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดฝั่งคลอง เครือข่ายแม่น้ำเพชรบุรี พิพิธภัณฑ์ปานถนอม บ้านเก่าเล่าเรื่อง และเครือข่ายแม่น้ำแม่กลอง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคงคาราม  อาทิ การใช้หมึกในการเขียนอักษรจีนที่มีข้อความเป็นมงคล การแสดงผ้าพื้นถิ่น และการแสดงวัฒนธรรมต่างๆ และการนำขนมโบราณมาให้ชิมเช่น ข้าวกระยาคูใส่แก้วใสสีเขียวเป็นของชาติพันธุ์ไทยยวนฝั่งคลอง  ขนมหันตาเป็นของชาวมอญลักษณะคล้ายขนมเม็ดขนุนที่ทำจากถั่วเหลืองแบบของไทย นอกจากนี้ยังมีขนมหม้อแกงใส่กระทงใบตอง ยำส้มโอใส่กระทงใบตอง ก๋วยเตี๋ยวหลอด  หมูสะเต๊ะ ทอดมันปลากราย ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเลือกชิมกันอย่างเอร็ดอร่อย 

              

สำหรับการจัดงานดังกล่าวช่วงระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ และยังมีไฮไลท์สำคัญ การจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตของ 5 ลุ่มน้ำภาคกลาง การเสวนาทางวัฒนธรรมและวิชาการ การสาธิต และการแสดงทางวัฒนธรรมของชุมชนแต่ละท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรม Work Shop และการจำหน่ายสินค้าชุมชนท้องถิ่นมากมาย                    

/////////////////////////////////////////

พันธุ์ -  จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี





30 พิพิธภัณฑ์ภาคกลาง 30 พิพิธภัณฑ์ภาคกลาง Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 22:18 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.