ดักปลาไหลใช่เรื่องยาก



ตามไปดูสู้ชีวิตช่วงโควิด-19หาปลาไหลเลี้ยงครอบครัว 


ยุคโควิดเศรษฐกิจฝืดเคือง ชาวบ้านใช้ท่อพีวีซีมาประดิษฐ์ทำเป็นลันสมัยโบราณดักปลาไหลตามทุ่งนา หมู่ที่ 4 ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ส่งขายพ่อค้ามีรายได้เฉลี่ยครั้งละ 3 - 4 พันบาท 
 
           
( 8 มิ.ย. 63 )  วันนี้จะพาไปดูอาชีพหนึ่งที่เป็นที่พึ่งของคนหาเช้ากินค่ำในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองซ้ำจากสถานการณ์โรคโควิด - 19 ทำให้ชาวบ้านพยายามหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวในยามลำบากเช่นนี้  อย่างครอบครัวนี้เป็นครอบครัวหาปลาไหลตระเวนไปทั่ว เพื่อหาหนองน้ำดักปลาไหลขาย  ได้นำท่อพลาสติกพีวีซี ความกว้างขนาด 2 นิ้ว นำมาตัดแปลงตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 1 เมตร แล้วใช้แกลลอนน้ำมันบางส่วนนำไปตัดเป็นฝาทำลิ้นในกระบอก เพื่อไม่ให้ปลาไหลที่ติดเข้าไปแล้วดันออกมาได้ ใช้ไฟลนปิดท้ายให้ก้นติดกัน วัสดุนี้ในสมัยโบราณใช้ไม้ไผ่จะเรียกว่า “ ลัน ” ใช้เฉพาะดักปลาไหล ด้านบนบริเวณปากกระบอกใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นปากก้นแหลมมีไม้เสียบขวางปากลันไว้กันปลาไหลดันออก ด้านข้างส่วนท้ายจะตัดให้เป็นช่องพออากาศหายใจได้ 


แต่ปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาเป็นท่อพลาสติกพีวีซี เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่าไม้ไผ่ สะดวกแก่การเคลื่อนย้ายง่าย โดยนำหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูของนาข้าว นำไปทุบให้แตก แล้วนำไปใส่ในกระบอกลัน ช่วงบ่าย ๆ จะนำลันไปวางตามน้ำขังตามทุ่งนาหรือพงหญ้าที่มีน้ำจะมีปลาไหลอาศัยอยู่  โดยเอาด้านท้ายที่เจาะรูไว้ให้โผล่เหนือน้ำ เพื่อให้ปลาไหลได้กลิ่นหอยเชอรี่และมุดเข้าไปในกระบอกลันพลาสติกเพื่อกินหอยเชอรี่เป็นอาหาร และไม่สามารถดันลิ้นฝาลันที่ยึดติดกับปากท่อพีวีซีไว้ออกมาได้  โดยจะวางลันไว้ประมาณ 1 คืน พอเช้าวันรุ่งก็ไปเดินตรวจลันที่ดักไว้แต่ละจุด พอใช้มือจับยกขึ้นมาหากมีน้ำหนักแสดงว่ามีปลาไหลติดอยู่ด้านในก็จะยกเทใช้มือกดที่ปากฝาให้กว้างพร้อมกับยกเทปลาไหลใส่กระสอบ บางลันติด 2 – 3 ตัว 
 
          
นางศรีชา น้อยเจริญ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 987 หมู่ 6 ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ยึดอาชีพหาปลาไหล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทำไร่สับปะรดและรับจ้างกรีดยาง แต่ด้วยเศรษฐกิจฝืดเคืองบวกกับช่วงนี้มีโรคโควิด 19 ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก จึงตระเวนหาปลาไหลส่งขายอยู่กิโลกรัมละ 180 – 200 บาท  จะดูพื้นที่บริเวณทุ่งนาร้าง ที่มีน้ำพงหญ้าค่อนข้างรก เพื่อนำลันช่วงท้ายค้ำกับต้นหญ้าไว้ไม่ให้จม เพราะถ้ามีปลาไหลติดลันด้านท้ายจมน้ำ ทำให้อากาศเข้าไม่ได้หายติดปลาไหลทำให้ปลาตาย  ช่วงเกิดโควิด – 19 ลำบากมาก ถ้าไม่ทำมาหากินแบบนี้มีหวังอดตาย เพราะไม่มีที่ทางเหมือนคนอื่น 

          
ส่วนเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐบาลให้ประชาชนนั้น ตนเองไม่ได้รับเพราะ ไม่มีหลักฐานสำคัญไปยื่นแสดงต่อหน่วยงาน เช่น สมุดบัญชีธนาคารเพราะไม่มีเงินที่จะเปิดบัญชีในช่วงนั้น  ก็เลยไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่น ๆ ได้แต่หาปลาไหลขายกินมีเงินเลี้ยงครอบครัวไปแต่ละวัน ค่ำไหนนอนที่นั่น ส่วนรายได้นั้นไม่แน่นอนอยู่ที่แต่ละวันในการดักหาปลาไหล ถ้าปลาติดเยอะก็ขายได้เงินเยอะหน่อย ส่งขายที่ จ.นครปฐม ต่อครั้งเฉลี่ยเป็นเงินครั้งละ 3-4 พันบาท ประมาณ 3 วันจึงจะนำไปขาย 1 ครั้ง กิโลกรัมละ 180 บาท  ส่วนการสังเกตพื้นที่หาปลาไหลให้ดูลักษณะพื้นที่มีน้ำไหล ถ้าจุดไหนน้ำน้อยจะไม่ค่อยเจอ เพราะปลาจะลงอาศัยในรูหมด ถ้าน้ำเยอะประมาณหัวเข่าขึ้นไปให้ลงดักลันได้ แต่ก็ให้สังเกตว่ามีน้ำเสียหรือไม่ ถ้าน้ำเสียดำเหม็นลงไปก็ไม่ได้อะไร เพราะปลาไหลไม่อยู่อาศัยในน้ำเสียที่เป็นฟอง 
   
       
อยากฝากรัฐบาลผู้ที่เกี่ยวข้องขอให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือจะใช้ในการสื่อสาร เพิ่งจะไปซื้อมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ และเพิ่งไปเปิดสมุดบัญชีธนาคารมาแล้ว แต่รัฐปิดการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาไปแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร คงต้องรอให้รัฐเปิดโอกาสใหม่ให้กับคนยากจนอีกสักครั้ง  

           
สำหรับการหาปลาไหลของครอบครัวก็จะมีลูกสาว ลูกเขย นำกระบอกลันพลาสติกใส่กระสอบแบ่งใส่บ่าลงทุ่งนาไปวางตามจุดต่าง ๆ แบ่งการดักไปตามพื้นที่หลายจุด บางคนโชคดีติดปลาไหลตัวโตน้ำหนักตัวละ 1 กิโลกรัม หากหลายกระบอกมาเทรวมกันจะได้แต่ละครั้งน้ำหนัก 4 - 6 กิโลกรัม รวมขังไว้ 3 วัน ถึงจะเอาไปขาย บางช่วงก็ได้น้อยแล้วแต่โอกาสของแต่ละพื้นที่  แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร เนื่องจากพื้นที่น้ำแฉะน้ำขังค่อนข้างรกจะมีสัตว์มีพิษ เช่น งูจงอาง งูเห่าดอกจัน อาศัยอยู่ และบางครั้งจะเข้าไปกินหอยในกระบอกลัน พอเปิดเจอก็ต้องรีบเปิดฝาให้มันออกไปโดยเร็ว ถือเป็นอาชีพในยุคโควิดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
                           
///////////////////////////////////////
 พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี






ดักปลาไหลใช่เรื่องยาก ดักปลาไหลใช่เรื่องยาก Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 02:52 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.