ไอเดียเก๋ประดิษฐ์ขวดยาหม่องเป็นรูปตุ๊กตาวรรณคดีไทย
2 พี่น้อง ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ไอเดียเก๋ ใช้ฝีมือด้านศิลปะ ประดิษฐ์ขวดยาหม่องเป็นตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทย สามารถวางเป็นของโชว์สวยงามในตู้ได้
( 27 พ.ค. 63 ) ยาหม่องที่บรรจุขวดเล็ก ๆ สำหรับไว้ดม ไว้ทา แก้ปวด วิงเวียนศีรษะ หรือ แมลง สัตว์ กัด ต่อย ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมพกพาติดตัวไปไหนมาไหนสะดวก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนชรา มักจะใช้ยาดมเพื่อบรรเทาอาการที่กล่าวถึง แต่เหมือนว่ายาหม่องแค่ขวดใส ๆ ดูไม่มีสีสัน
จึงพาไปชมไอเดียเก๋สำหรับขวดยาหม่องแบบใหม่ที่ดูแปลกตา จากฝีมือการประดิษฐ์ของผู้หญิง 2 คนพี่น้อง คือ นางสาวพรรณทิพา ขจิตรสุวรรณ อายุ 47 ปี คนพี่ และ นางสาวชุตินันท์ ไพรวัลย์ อายุ 31 ปี น้องสาว อยู่บ้านเลขที่ 172 หมู่ 2 ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ที่สร้างสรรค์ชิ้นงานจากดินไทยมาผสมสีปั้นเป็นตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทยสีสันสวยงามรอบขวดยาหม่อง สามารถบิด เปิด ปิดฝา เหมือนขวดทั่วไปได้ ส่งขายผ่านทางเฟซบุ๊ก ลูกค้าสนใจจากความสะดุดตาขวดยาหม่องสมุนไพรที่ไม่ได้มีแค่ไว้ดมแก้วิงเวียนศีรษะ เพิ่มความสดชื่นเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสามารถนำไปวางในตู้โชว์เพิ่มความสวยงามให้แก่บ้านเรือน หรือเป็นของฝากของที่ระลึกได้อีกด้วย
นางสาวพรรณทิพา ขจิตรสุวรรณ อายุ 47 ปี คนพี่ เล่าถึงที่มาของการประดิษฐ์นี้ว่า ความคิดมาจากน้องสาวที่มีความรู้เรื่องดิน ช่วงแรกทำเป็นตุ๊กตาจิ๋วตัวเล็ก ต่อมาลูกค้ามีออเดอร์สั่งทำเป็นงานขวดยาหม่อง ยาดม อยากได้แบบสวย ๆ ดูดี ลูกค้าอยากได้เป็นแบบลายไทย จึงมานั่งคิดค้นแบบส่งขาย มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเห็นจึงสนใจสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น ลวดลายยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ตุ๊กตาเหล่านี้จะไม่เป็นลิขสิทธิ์เพราะมีมาแต่โบราณ เจ้าเงาะ นางรจนา ลูกค้าสอบถามทำได้มั๊ย จึงลองขึ้นแบบให้ดูก่อนจนลูกค้าชอบใจ จากวันนั้นจึงเริ่มหันมาทำงานขวดยาหม่องลายไทยอยู่กับน้องสาวสองคน
นางสาวชุตินันท์ ไพรวัลย์ อายุ 31 ปี น้องสาว กล่าวว่า ตนจบการศึกษาระดับ ปวส. วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี สาขาการบัญชี ด้วยเป็นครูพักลักจำในการปั้นรูปจึงได้นำดินไทยสีขาวนวลมาผสมกับสีน้ำมันเพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ จากนั้นเริ่มปั้นรูปทรง ด้วยการนำดินไทยมานวดแล้วรีดให้เป็นแผ่นสำหรับส่วนประกอบ ตุ๊กตาตัวละครในวรรณคดีไทยรอบขวดยาหม่อง ส่วนหัวเป็นผาขวดยาหม่องจะเป็นสีเนื้อ สีดำไว้ทำทรงผม สวมใส่ชฎา ทิ้งรอให้แห้งสักพัก จากนั้นเริ่มปั้นช่วงที่เป็นขวดตกแต่งให้เป็นตัวตุ๊กตาจนครบทุกชิ้นส่วน โดยการสร้างรูปแบบขวดยาหม่องเหมือนเป็นจุดขาย เนื่องจากชาวบ้านหรือคนที่เคยใช้ยาหม่องจนหมดขวดก็จะโยนขวดทิ้งไป แต่ขวดยาหม่องที่ทำ ยังสามารถเอาไปประดับตกแต่งบ้าน หรือเป็นของที่ระลึก ของชำร่วยได้อีก
แหล่งขาย ช่วงก่อนโควิด - 19 ได้ส่งไปขายที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่ชื่นชอบของหอมมาก เช่น ยาหม่อง กำยาน และจะชอบงานฝีมือไทย บางคนยังชอบซื้อเอาไปตั้งโชว์ในตู้และที่ทำงาน โดยก่อนหน้านี้มีออเดอร์เข้ามาเยอะทำไม่ทันจึงได้จ้างเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมาระบายลงสีให้ราคาตัวละ 5 บาท ทำเสร็จสมบูรณ์สวยงามจะใส่ถุงพลาสติกเรียบร้อย แบบตุ๊กตาลงสีธรรมดาราคาตัวละ 45 บาท ลงสีทองขายราคาตัวละ 65 บาท ส่วนยาหม่องได้ไปรับซื้อมาจากชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าราบ อ.เมืองราชบุรี โดยจะเอาขวดไปให้ใส่ราคาขวดละ 7 บาท ถือเป็นการอุดหนุนช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ด้วยช่วงนี้เกิดสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้รายได้ลดลงมาก เพราะนักท่องเที่ยวยังเข้ามาเที่ยวประเทศไทยไม่ได้ พ่อค้า แม่ค้าที่เคยสั่งไว้ก็จะต้องเอาสินค้าของเราไปเก็บไว้ก่อน จึงอาจจะต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ก่อนจึงจะทำให้มีออเดอร์การสั่งเพิ่มขึ้น
ผู้สนใจที่อยากหาอาชีพเสริมมาเรียนได้ใครถนัดการลงสีตุ๊กตาก็มารับงานไปทำเสริมได้ โดยมีผลิตภัณฑ์ตุ๊กตายาหม่องที่เป็นรูปตุ๊กตาทหารจะมีวางขายที่กองพันทหารช่างราชบุรีรับไปจำหน่าย ส่วนรูปแบบอื่นๆจะขายผ่านเฟซบุ๊ก ในกลุ่มงานประดิษฐ์ มีเพื่อนหลายคนช่วยกันแชร์ออกไปทำให้พอมีลูกค้าสั่งเข้ามาบ้าง หากมีผู้สนใจหรือหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อเข้ามายินดีสอนให้ หรือจะทำเป็นอาชีพเสริมกับคนที่ไม่มีงานทำในช่วงนี้ก็ได้
ตุ๊กตาที่ประดิษฐ์บนขวดยาหม่องก็จะเป็นรูป ทศกัณฑ์ หนุมาน ยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์วัดโพธิ์ ตุ๊กตาช้าง เจ้าเงาะ นางรจนา ซึ่งเป็นตัวละครในวรรณคดีไทย ยังมีหมีแพนด้า ทหารชาย ทหารหญิง ปั้นยักษ์ประจำวันมี 7 วัน 7 สี ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ ซึ่งทั้งสองพยายามที่จะคิดค้นพัฒนาต่อยอดสร้างรูปแบบใหม่ออกมา สร้างความแปลกใหม่ให้แก่ผู้ที่สนใจมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 064- 1968146 – 096 – 9026301 หรือ เฟซบุ๊ก ฟ้าใสงานปั้นได้ ทั้ง 2 ยินดีบริการและให้คำแนะนำ
/////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
เพิ่มมูลค่ายาหม่องไทย
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
04:54
Rating: