ทหารช่างมทบ.๑๖ทำพิธี



สวนสนามวันกองทัพไทย ปี ๖๓ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ๑๔๐๑ นาย


วันศุกร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๖.๐๐ น.  กรมการทหารช่าง และมณฑลทหารบกที่ ๑๖ ประกอบพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหารและตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ และวันกองทัพไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ ๑๖ ณ สนามหน้ากองบัญชาการกรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี อำเภอเมือง  จังหวัดราชบุรี โดยมีหน่วยทหารต่าง ๆในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม รวม ๕ หน่วย ประกอบด้วย กรมการทหารช่าง , กองพลพัฒนาที่ ๑ , มณฑลทหารบกที่ ๑๖ ,  กรมการสัตว์ทหารบก และ แผนก ๖ กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก จัดกำลังพลเป็นกรมสวนสนาม  ๔ กรม ประกอบด้วย ๘ กองพันสวนสนาม รวม ๑,๔๐๑ นาย  เข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลและพิธีสวนสนามดังกล่าวในครั้งนี้ โดยมี พลตรี เจษฎา  เปรมนิรันดร  รองเจ้ากรมการทหารช่าง (๑) และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้  
       


พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เป็นประเพณีอันเก่าแก่ของทหาร ที่ได้ยึดถือปฏิบัติ  สืบมาแต่โบราณกาล อย่างเคร่งครัดว่า ชายไทยที่เข้ามารับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารนั้น จะเป็นทหารที่สมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เรียกอย่างสามัญว่า “พิธีสาบานธง” สันนิษฐานว่ามีขึ้นเป็นครั้งแรกเท่าที่ปรากฏหลักฐาน เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยจัดที่ลานพระราชวังดุสิต ในครั้งนั้นเป็นการประกอบพิธีของหน่วยทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีสวนสนาม  



ธงชัยเฉลิมพลมีส่วนสำคัญอยู่ ๓ ประการคือ ผืนธง หมายถึง ชาติ บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พระพุทธศาสนา และเส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์  ธงชัยเฉลิมพล เป็นสีต่าง ๆ ตามแต่จะเห็นสมควร แต่ที่มุมบนมีแพรแดงเป็นรูปธง โตหนึ่งในหกส่วน มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นที่พื้นธง นอกจากธงช้างที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เป็นธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลาพระราชพิธีใหญ่และเกียรติยศตามซึ่งจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมและเมื่อกองทหารจะไปปราบศัตรู ก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย 



ธงชัยเฉลิมพล ย่อมนับว่าเป็นยอด เป็นจอมแห่งกองทหารทั้งหลายสืบมาแต่โบราณ เป็นหน้าที่ของทหารกองนั้น ๆเมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงจำเป็นจะต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลสำหรับกองทหารของตัวเอง  ยิ่งกว่าชีวิต  เมื่อเป็นดังนั้น ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องชักนำให้ถึงที่  มีชัยชนะ โดยความกล้าหาญ เพราะฉะนั้นธงชัยเฉลิมพล จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของกองทหารสืบมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน


----------------------------------





ทหารช่างมทบ.๑๖ทำพิธี ทหารช่างมทบ.๑๖ทำพิธี Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 01:18 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.