เปิดตำนานเรื่องเล่าชาวมอญนครชุมน์

อีกหนึ่งความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของลูกหลานชาวมอญนครชุมน์  คือการเก็บอัฐิผู้ล่วงลับไว้ในโถเบญจรงค์ที่สวยงาม วางใส่ตู้รอบโบสถ์วัดใหญ่นครชุมน์ อย่างสวยงามแปลกตาไม่ธรรมดาเหมือนวัดทั่วไป


ที่วัดใหญ่นครชุมน์ หมู่ 6 ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี  เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของชุมชนชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง จากร่องรอยหลักฐานที่ยังคงอยู่ในวัด เช่น วิหารปากี  ซึ่งดัดแปลงจากรากฐานเดิมที่จะสร้างเป็นเจดีย์มุเตา บ่งชี้ความเก่าแก่ที่อาจย้อนไปถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวมอญเริ่มอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ 


จากข้อมูลสำหรับอุโบสถเก่าหลังนี้ ไม่ทราบปีที่สร้างแต่ร่องรอยหลักฐานสำคัญคือ จารึกหน้าบันว่า บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 3 ในปี 2452 โดย พระบุญ  (พระอธิการเสมียนบุญ เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 ) ทั้งยังมีเรื่องราวเล่าขานกันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาที่วัดนี้เมื่อปี พ.ศ. 2440 (น่าจะเป็นปี พ.ศ.2420 หรือ 2431)  พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้ทายกทายิกาช่วยกันบำรุงรักษาพระอารามแห่งนี้ให้มีความสวยงาม จากกาลเวลาที่ผ่านมากว่าร้อยปี อุโบสถจึงมีความเสื่อมโทรม ผนังร้าว หลังคาทรุดตัว 

ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 วัดใหญ่นครชุมน์ และกรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 1 ได้ร่วมกันดำเนินการบูรณะจนเกิดความสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน  แต่ที่สนใจคือ บริเวณรอบอุโบสถหลังใหม่พบตู้กระจกใส เป็นที่เก็บโถเบญจรงค์หรือโกฎใส่อัฐิ หรือ กระดูกของบรรพบุรุษชาวมอญที่เสียชีวิตตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ทำเป็นตู้กระจกอย่างดี ตั้งวางเรียงรายเป็นชั้น ๆ ซึ่งมองดูแปลกตาจากของไทย ที่ส่วนใหญ่จะสร้างเจดีย์ไว้ที่บริเวณวัดเพื่อไว้เก็บอัฐิแทน  ที่น่าสนใจคือบางโกฏที่หน้าตู้ได้เขียนชื่อผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ในสมัยโบราณไว้ เช่น พระยาเสลาภูมิมาธิการ หรือ พระยาทองผาภูมิ และชื่อต้นตระกูลทหารในสมัยโบราณ 


นายคมสรร จับจุ รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลนครชุมน์ เปิดเผยว่า ที่นี่มีการพัฒนาต่อยอดในชุมชน เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนมอญ เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้น อยากให้มองในเรื่องที่ดี  หลวงพ่อเจ้าอาวาสมองว่าเกิดประโยชน์จากการสร้างกำแพง สร้างสิ่งสวยงามสำหรับชั้นวางสิ่งของเป็นโกฏ บรรจุ กระดูกหรืออัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้านชุมชนมอญ พอลงดินก็ไม่มีใครพบ หรือหากฝังไว้ตามเจดีย์ตามป่าช้าทั่วไปก็จะเกิดการชำรุดดูไม่เรียบร้อย  จึงมีแนวคิดอยากจัดให้เป็นระเบียบ  ลูกหลานยังได้เห็นบรรพชนตัวเอง ปู่ย่า ตา ทวด ยังคงอยู่ ยังสามารถกลับมาทำบุญที่นี่ได้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีพิธีชักบังสุกุลกระดูก มาทำบุญอุทิศให้  ได้ร่วมสร้างพระทองคำถวายให้ท่าน ซึ่งจะทำบุญกลางเดือนสิบของวัดนครชุมน์ยังคงมีพิธีสร้างพระพุทธรูปทองคำ มีประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งเป็นแบบวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญ เหมือนกับทำบุญใหญ่สังฆทานประจำปี จะมีการเขียนชื่อ นามสกุล ปู่ย่า ตายายเพื่อทำบุญอุทิศไปให้ทุกปี 


ส่วนโกฏเครื่องเบญจรงค์ จะมีการสลักชื่อเขียนไว้เป็นชื่อวัดใหญ่นครชุมน์ สั่งทำจากโรงโอ่งของเมืองราชบุรี นำมาตั้งไว้รอบ ๆ อุโบสถหลังใหม่  ปู่ย่า ตา ทวด ก็จะได้อานิสงค์จากการ สดับฟังพระธรรมคำสอนจากพระที่เข้าไปทำศาสนกิจภายในอุโบสถด้วย บรรยากาศก็ร่มรื่นสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนเหตุที่ใช้โถโกฏเบญจรงค์มาใส่บรรจุกระดูก เนื่องจากสมัยก่อนผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเคยมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต เป็นถึงระดับเจ้าเมือง  ทหาร ผู้รับใช้แผ่นดิน บางคนก็คุมไพร่พลมาจากชายแดนด่านเจดีย์สามองค์  ยุคสมัยสงครามเก้าทัพ ชาวบ้านบางคนได้ปั้นอิฐส่งเข้าวังก็ปรากฏมีหมู่บ้านท่าอิฐอยู่ใกล้วัดนี้เกิดขึ้น  โดยวัดนครชุมน์จะเป็นที่ชุมนุมของพระสงฆ์และชาวบ้าน  เพราะว่าพระยารามัญเจ็ดหัวเมือง หนึ่งในนั้นเคยเป็นต้นตระกูลของคนชุมชนนี้ ทั้งที่ดิน ที่บริเวณโรงเรียน  พื้นที่ป่าช้าส่วนหนึ่งและโบสถ์ส่วนหนึ่งก็เป็นที่ดินของพระยารามัญสมัยนั้น ต่อมาได้สร้างวัดขึ้น มาถึงช่วงต่อยุคนี้ก็อยากจะส่งผ่านให้รำลึกถึงท่านว่า สิ่งที่ทำไว้เป็นเรื่องที่ดี ที่ควรยกย่องให้ทุกคนได้เห็นถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ 


                                      /////////////////////////////////////////

พันธุ์ -  จรรยา  แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี





เปิดตำนานเรื่องเล่าชาวมอญนครชุมน์ เปิดตำนานเรื่องเล่าชาวมอญนครชุมน์ Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 01:30 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.