วัดม่วงบ้านโป่ง นอกจากยังคงความเป็นชุมชนชาวมอญแห่งลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว วัดม่วงยังมีต้นโพธิ์เก่าแก่ร่วมร้อยปี ที่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของศิลปะธรรมชาติที่ลากเลื้อยจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น "รุกข มรดกแห่งแผ่นดิน" หนึ่งเดียวของราชบุรี
( 11 ต.ค. 64 ) ไปชมความแปลกของต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อายุราว ๆ เกือบ 100 ปี ที่รากขึ้นปกคลุมซุ้มประตูวัด จนดูเป็นศิลปะที่ธรรมชาติสร้างขึ้น อยู่ริมแม่น้ำแม่กลองหน้าวัดม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งวัดม่วงถือเป็นวัดที่เก่าแก่ ตามประวัติบอกไว้ในคัมภีร์ใบลานเขียนด้วยอักษรมอญว่ามีอายุในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญ ซึ่งต้นโพธิ์ที่ว่านี้ มีลักษณะรูปทรงแปลกตา โดยได้รับคัดเลือกให้เป็น "รุกข มรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี" ของกระทรวงวัฒนธรรมด้วย จากประวัติทราบว่าต้นโพธิ์นี้มีเส้นรอบวง 11 เมตร ความสูง 10 เมตร อยู่บริเวณวัดม่วง มีกิ่งก้านสาขาปกคลุม โดยรอบ ๆ ซุ้มประตูวัด รากของต้นโพธิ์แทงเข้าไปตามซอก และโครงสร้างของซุ้มประตู กิ่งของต้นมีรูปร่างคล้าย ๆ กับช้างทรงขนาดใหญ่ มองดูแล้วสวยงาม ภายในซุ้มยังมีรูปปั้นพระสังกัจจายน์ พระอสีติ “ มหาสาวกแห่งโชคลาภ ” ประดิษฐานอยู่เพื่อให้ประชาชนมากราบไหว้ขอพร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของวัดม่วง ถือเป็นรุก ข มรดกของแผ่นดิน ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ช่วงวันหยุดมักจะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดขับรถผ่านและจะชอบแวะกราบขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งด้านในจะมีพวงมาลัยดอกไม้สด น้ำแดง น้ำเปล่า ผลไม้ หลายคนก็ยังมาขอโชค ขอลาภ จากองค์พระสังกัจจายน์ กันไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงใกล้ ๆ วันหวยออก สังเกตจากบริเวณด้านข้างจะมีพานสีทอง สีเงิน น้ำแดง จัดถวายไม่ขาด จากคำเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของต้นโพธิ์ต้นนี้ มีคนได้โชคลาภไปหลายงวดนำผลไม้ น้ำแดงมาถวายกันไม่ขาดสาย
นายสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนต้นโพธิ์อายุราว ๆ 70 ปี ส่วนอีกต้นมีอายุกว่า 100 ปี สมัยก่อนเคยมีศาลาอยู่ริมน้ำและมาพังทลายลงเมื่อประมาณกว่า 30 ปี ส่วนพิพิธภัณฑ์หลังนี้สร้างมากว่า 20 ปี แต่เดิมเป็นศาลาเอนกประสงค์เรือนไม้ไว้จัดประเพณีต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ส่วนของเก่านั้นเป็นของวัดบ้าง มีชาวบ้านนำมาถวายวัดบ้าง และได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ จนตกทอดมาถึงพระครูวรธรรมพิทักษ์ ร่วมกับกรมศิลปากร และชาวบ้านม่วง สร้างพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์หลังนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชมของเก่า ได้ความรู้ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ด้านในมีวัตถุโบราณที่สำคัญ เช่น ข้าวของเครื่องใช้โบราณของชาวมอญ เครื่องประดับ โอ่ง ไห ถ้วยชามโบราณ เครื่องแต่งกายโบราณ นอกจากนี้ยังมีใบลานที่ตกทอดมานานหลายร้อยปี บอกถึงตำรายาสมุนไพร คาถาไล่ผี ประวัติบ้านม่วง มีคัมภีร์งาช้าง 1 ชุด และเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่มสมัยโบราณอีกหลายชิ้น ชาวมอญก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีให้คงอยู่คู่ท้องถิ่นแต่อดีตมาจนถึงทุกวันนี้
จากข้อมูลประวัติของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงนั้นเชื่อว่าบรรพบุรุษของชาวมอญได้ติดตามพระมหาเถระคันฉ่อง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อรำลึกถึงบ้านเก่าที่จากมา จึงเรียกบ้านใหม่ด้วยชื่อเก่าว่า “ บ้านม่วง ” เช่นเดียวกับชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า “ วัดม่วง ” ภาษามอญว่า “ เพลียเกริก ” และยังมีการอพยพเข้ามาอีกหลายระลอกใช้เวลาร่วม 400 ปี เป็นรากฐานที่ดี ในการก่อเกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และศูนย์มอญศึกษาขึ้น
สำหรับผู้สนใจมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วงได้ทุกวันพุธ - อาทิตย์ จะหยุดเฉพาะวันจันทร์ และวันอังคาร มาเที่ยวชมโบราณวัตถุในสมัยโบราณของชาวมอญ และเที่ยวชมสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเพื่อความเป็นสิริมงคลได้
///////////////////////////////////////
พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี