เกษตรจบปัญหาด้วงสาคู


เกษตรจบปัญหาด้วงสาคู  ไม่ให้กระทบชาวสวนมะพร้าว

เกษตรจังหวัดราชบุรี จัดประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างเกษตรกรกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงด้วงสาคู หลังเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ทำหนังสือขอคำชี้แจงกรณีการเลี้ยงด้วงสาคู อาจมีผลกระทบผู้ปลูกมะพร้าว  


( 28 มิ.ย. 64 )  นางดวงสมร พฤฑฒิกุล เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุมหารือ แนวทางการบริหารจัดการเลี้ยงด้วงสาคู ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดว่า  มีนายละออ เสร็จกิจ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร เกษตรอำเภอบางแพ เกษตรอำเภอจอมบึง  เกษตรอำเภอบ้านโป่ง เกษตรอำเภอดำเนินสะดวก  เกษตรอำเภอโพธาราม  และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม นำโดยนายสุชัช สายคสิกร เกษตรกรปลูกมะพร้าว ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก  และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคู นำโดย นายอำนาจ บุญสวัสดิ์ เกษตรกรเลี้ยงด้วงสาคู อ.บางแพ และตัวแทนเกษตรกรที่มีการเลี้ยงด้วงสาคู ได้แก่ อ.จอมบึง อ.บ้านโป่ง อ.บางแพ และ อ.ดำเนินสะดวก ร่วมประมาณ 2,069 กะละมัง  ครอบคลุมหลายอำเภอของพื้นที่  เพื่อหาแนวทางร่วมกัน


หลังจากที่เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง นำโดยนางอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ทำหนังสือขอคำชี้แจงข้อห่วงกังวลของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว กับการเพาะเลี้ยงด้วยไฟ หรือ ด้วยสาคูถึงเกษตรจังหวัดราชบุรี  หลังจากที่มีเกษตรกรหลายรายเพาะเลี้ยงด้วงสาคูเสริมรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้กลุ่มเกษตรที่ปลูกมะพร้าววิตกกังวลถึงการเลี้ยงด้วงสาคูอาจจะส่งผลกระทบถึงการปลูกมะพร้าวในพื้นที่ หากด้วงสาคูหลุด หรือ เล็ดลอดออกไป  จะไปเจาะทำลายสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้   โดยที่ประชุม  เกษตรกรที่เลี้ยงด้วงสาคูจำนวน 13 ราย  มาร่วมหารือพร้อมนำ เอกสารและภาพถ่าย ข้อมูลการเลี้ยงตามระบบของแต่ละฟาร์ม มานำเสนอแก่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรปลูกมะพร้าว  เพื่อให้รับทราบการเลี้ยงที่ชัดเจน  


 
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลจำเพาะด้วงสาคู ( ด้วงมะพร้าว ) วงจรชีวิต ลักษณะการเข้าทำลายพืชอาหาร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร การนำเสนอรูปแบบวิธีการเลี้ยงด้วงสาคูที่เหมาะสมและไม่กระทบกับมะพร้าว


สำหรับด้วงงวงมะพร้าว มีชื่อเรียกหลายชื่อตามแต่ละพื้นที่ เช่น ด้วงงวง หรือ ด้วงสาคู   ด้วงลาน  แมงหวัง เป็นศัตรูพืชที่ทำลายมะพร้าว  ซึ่งเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปลูกมะพร้าวและประเทศ   ขณะเดียวกันด้วงสาคูก็เป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าและกำลังได้รับความนิยมในการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะยุคโควิด -19 การเลี้ยงด้วงสาคูกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากการลงทุนน้อย เลี้ยงง่ายได้ผลตอบแทนเร็ว ตลาดต้องการสูง สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ดี ทำให้มะพร้าวและด้วงสาคู ต่างก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน  


 
การทำลายต้นมะพร้าวของด้วงงวง ด้วยการเจาะเข้าในลำต้น และยอดมะพร้าว มักทำลายตามรอยด้วงแรดมะพร้าว โดยจะวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้น จะเจาะและวางไข่ หรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะเอาไว้  หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว   ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ  


สำหรับการเลี้ยงด้วยสาคูของกรมส่งเสริมการเกษตร จะแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงด้วงสาคูในระบบปิด  ซึ่งตามวงจรชีวิตด้วงสาคู ประมาณ  150 - 259 วัน  จะเลี้ยงในภาชนะที่มีฝาปิด และวางภาชนะภายในโรงเรือนที่มีตาข่ายปิด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยของด้วงสาคูซึ่งเป็นพ่อแม่พันธุ์ออกมาสู่ภายนอกโรงเรือนได้ รูปแบบบริโภคหรือจำหน่ายด้วงสาคู จะนำระยะตัวหนอนมาบริโภคและจำหน่ายนะระยะเวลาประมาณ 35 - 39 วัน  ซึ่งหากเลยระยะเวลาตัวหนอนไปแล้ว จะไม่สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้อีก ปัจจุบันด้วงสาคูมีราคาจำหน่ายหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 200 - 250 บาท ซึ่งนับว่าสร้างรายได้และผลตอบแทนแก่เกษตรกรในระยะเวลาสั้น และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย 


 
อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการพูดคุยนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ได้แก่ การจัดทำโรงเรือนเลี้ยงด้วงสาคูแบบระบบปิด  ที่มีมุ้งหรือตาข่ายกั้น การจัดทำบันทึกการเลี้ยง ได้แก่ บัญชี จำนวนที่เลี้ยงที่จำหน่าย และให้ตั้งส่วนราชการตั้งคณะทำงานติดตาม เฝ้าระวัง  และให้คำแนะนำการเลี้ยงที่ถูกต้องแก่เกษตรกร เพื่อให้ผู้เลี้ยงด้วงสาคู และผู้ปลูกมะพร้าว หรือจะเป็นพืชอื่น ๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นคนกลางคอยดูแลไม่ให้เกิดปัญหากันทั้งสองฝ่าย   


ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติร่วมกัน คือ 1 .ให้ความรู้ผู้เลี้ยงด้วงสาคู  2. แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระดับจังหวัด และอำเภอ คณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ผู้เลี้ยงและผู้ปลูกมะพร้าว 3. ขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยง  4. เลี้ยงโดยโรงเรือนแบบปิด 5.ผู้ขายพ่อแม่พันธุ์ต้องทำทะเบียนและแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อติดตาม 6.หากเลิกเลี้ยงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่และทำลายด้วงที่เหลือ 

                                          /////////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา  แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี




เกษตรจบปัญหาด้วงสาคู เกษตรจบปัญหาด้วงสาคู Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 20:34 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.