ยกผ้าขาวม้าสู่ออนไลน์

ยกผ้าขาวม้าสู่ออนไลน์ ราชภัฏจอมบึงส่งทีมร่วมพัฒนา

ม.ราชภัฏจอมบึง จ.ราชบุรี จัดทำโครงการจ้างงานนักศึกษายกระดับผ้าขาวม้าสู่ตลาดออนไลน์ พัฒนาสินค้าให้ก้าวไกล  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ช่วงโควิด 19             

    

ผ้าขาวม้าลวดลายสีสันสดใสถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นพวงหรีดกระด้ง พวงมาลัยผ้าขาวม้า กระโปรง กระเป๋า สายคล้องและหน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์อีกมากมายตามแนวคิดของนางนฤมล เทศเจริญ ประธานศูนย์ OTOP ผ้าขาวม้านฤมล  ตั้งอยู่ที่ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี มีชาวบ้านรวมกลุ่มช่วยกันผลิตจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชนมีรายได้  ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โดย ผศ.ชรินทร์ นมรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง พร้อมอาจารย์ ดร.อดิศักดิ์ แสงส่องฟ้า รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.อรนุช จินดาสกุลยนต์ รองคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อาจารย์ ดร.นพดล อ่ำดี  รองคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมได้เห็นความสำคัญ พร้อมทั้งหยิบยกผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าขึ้นมาดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลคุ้งน้ำวน (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ร่วมกับหน่วยงานภาคีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านการพัฒนารูปแบบและช่องทางการตลาดออนไลน์  โดยมีนางสาวสุภวันย์ ชวินโรจน์พงศา พัฒนาการอำเภอเมือง และนางสาวกุลวลี นพอมรบดี ผู้แทนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดกิจกรรมด้วย 

                  

นางสาวเชาวลีย์ วิจิตร์สอน นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว  กล่าวว่า  มีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลประวัติของร้าน  ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและการติดต่อสื่อสาร ในเว็บไซต์จะมีผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของตำบล  เช่น หน้ากากอนามัย พวงมาลัย ตุ๊กตา รวมทั้งสินค้าอีกมากมายจะไปลงในเว็บไซต์ให้คนภายนอกได้เข้ามาดู ถ้าสนใจสามารถเข้ามาสั่งซื้อแนะนำผ่านทางนี้ได้  


 
นางสาวพิสิษฐ์ ด้วงพิบูลย์  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สาขานิเทศศาสตร์ กล่าวว่า มีหน้าที่ออกแบบสินค้า และดูเรื่องในตำบลคุ้งน้ำวนมีของดีอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำเป็นสินค้าได้  ที่มองอันดับแรกเห็นจะมีเรื่องมะพร้าว สามารถทำเป็นรูปทรงต่างๆโดยใช้ผ้าขาวม้าให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ช่วยพัฒนาอาชีพใหม่ให้ชาวบ้าน  อย่างการนำเศษผ้าที่เหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ เป็นเข็มกลัดติดเสื้อ  


 
นางนฤมล  เทศเจริญ  ประธานศูนย์ OTOP ผ้าขาวม้านฤมล  กล่าวว่า กลุ่มมีสมาชิกประมาณ 20 คน แบ่งการทำพวงมาลัย การเย็บพวกตุ๊กตา และเย็บกระเป๋า และยังมีโครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงส่งนักศึกษาเข้ามาช่วย เป็นการยกระดับเศรษฐกิจตำบลคุ้งน้ำวน บางครั้งสินค้าที่ผลิตเราว่าสวยและดีทำมามาก แต่สิ่งสำคัญคือ ขายไม่ได้ ยิ่งเจอช่วงสถานการณ์โควิด ทางกลุ่มจึงได้กระจายไปหลายที่เพื่อให้ชุมชนมีรายได้  และยังมีหน่วยงานของอุตสาหกรรมจังหวัดเตรียมให้ตราสัญลักษณ์คุณภาพสินค้า รวมทั้งพัฒนาการจังหวัด จะให้ความรู้เรื่องการจดทะเบียนให้โอท็อปอยู่ระดับ 5 ดาว ส่วน ส.ส.ราชบุรีช่วยเรื่องการกระจายรายได้สู่ชุมชนเช่นครั้งที่แล้วได้ช่วยสนับสนุนซื้อพวงมาลัยผ้าขาวม้าจำนวน 200 พวงไปกระจายรายได้ให้เป็นที่รู้จักที่รัฐสภาด้วย ช่วงเทศกาลสำคัญเช่น วันวาเลนไทน์ วันพ่อ วันแม่ จะมีของที่ระลึกอย่างพวงมาลัยผ้าขาวม้าที่ใช้ได้ทุกเทศกาลและยังใช้งานได้จริงเป็นของขวัญ ของฝากของที่ระลึกที่มีรูปแบบสวยงาม 


 
นางสาวกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ได้สนับสนุนพวงมาลัยผ้าขาวม้านำไปมอบให้ผู้ใหญ่หลายท่านเป็นที่ระลึก  ทราบว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่ พรก.เงินกู้โควิดจะมีโครงการจ้างงานของกระทรวง อว. ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงในโครงการ 1 ตำบล  1 มหาวิทยาลัยฯ มีการจ้างงานน้องนักศึกษา ที่สนใจเรื่องงานการใช้ฝีมือ เป็นการบูรณาการร่วมกันให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนมีรายได้ 


อาจารย์ ดร.นพดล อ่ำดี  รองคณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งเสริมสนับสนุนนักศึกษา บัณฑิต และประชาชน ทางมหาวิทยาลัยฯได้ทำโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี ผ่านกระทรวง อว.เพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นที่นี่ให้ได้  จึงคัดเลือกโอท็อปผ้าขาวม้านฤมลเป็นต้นแบบพัฒนาทำพวกเว็บไซต์ แอพลิเคชั่น หรือ เรียกว่าตลาดออนไลน์ร่วมกับการพัฒนาโปรดักใหม่ๆ ทำให้โอกาสการผลิตได้มากขึ้นเกิดการจ้างงานรอบชุมชน  ระหว่างทำงานจะถ่ายทอดเทคโนโลยีไปเรื่อยๆรวม 12 เดือน ทำให้ผู้ที่สนใจทุกกลุ่มที่มีความสามารถการทำหัตถกรรมขึ้นรูปแบบตามที่เราคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้  เห็นได้จากกลุ่มเริ่มโด่งดังเรื่องนำผ้าขาวม้ามาทำเป็นพวงหรีด และมีงานพวงมาลัยหลากหลายรูปแบบได้รับความนิยม 

ส่วนของทีมงานนักศึกษาทั้งบัณฑิตและประชาชนมีอยู่ 18 คน จะมีรหัสเรียกคือ 01 อยู่ที่อบต.คุ้งน้ำวนช่วยงานเก็บข้อมูลและหน่วยงานส่วนกลางที่จัดส่งข้อมูลลงมาให้เก็บ รหัส 02 จะอยู่ที่ รพ.สต.หรืออนามัยมีหน้าที่เก็บข้อมูลเรื่องโควิด ถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันสถานการณ์ต่างๆ รหัส 03 อยู่ที่จังหวัดช่วยงานด้านการจัดทำข้อมูลทั้งหมด ส่วน 04-06 ทีมของตนเองจะเป็นคนดีไซน์แจกงานให้ทั้งหมดเข้าใจรูปแบบการทำงาน ซึ่งเริ่มทำงานได้ประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว คาดหวังว่างานนี้จะเป็น 1 ใน 35 ตำบลที่หวังว่าจะอยู่ยาวไม่ให้จบเพียงแค่ 1 ปี สำหรับนักศึกษาที่มาอยู่ที่ อบต.จะทำเฉพาะวันที่ไม่มีการเรียนการสอน  หรือช่วงเสาร์และอาทิตย์  โดยจะมาช่วยงานที่ อบต.วันอังคารและวันพุธ ซึ่งทีมจะมีการถ่ายทอดแกะรูปแบบออกมาจัดทำเป็นคู่มือ 1 เล่ม หวังว่าพื้นที่ตำบลคุ้งน้ำวนจะเป็นต้นแบบมีผลิตภัณฑ์ 3-5 ดาว  เข้าสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน และอยู่ระหว่างมองโปรดักอีกหลายชิ้นมีโอกาสจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรจะทำให้เป็นของเฉพาะที่นี่โดยที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้


สำหรับพื้นที่ตำบลคุ้งน้ำวนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 35 ตำบลของ จ.ราชบุรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้จ้างงานบัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป  ร่วมขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ช่วยเหลือช่องทางตลาดออนไลน์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆรวมทั้งช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในอนาคต

                                 ////////////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา  แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี




ยกผ้าขาวม้าสู่ออนไลน์ ยกผ้าขาวม้าสู่ออนไลน์ Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 03:18 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.