แก้แล้งไม่ใช้งบหลวง





ชาวบ้านทำบุญเลี้ยงพระฉลองแท้งค์น้ำบาดาลชุมชนแก้ภัยแล้ง




ชาวบ้าน ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ดีใจที่สุดหลังมีการนำเงินดอกเบี้ยของกองทุนหมู่บ้านสมทบกับงบประมาณภาครัฐขุดเจาะน้ำบาดาลใช้แก้ภัยแล้งซ้ำซากได้ผล จึงพร้อมใจจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระฉลองแท้งค์น้ำบาดาลใหม่ 


           
( 19 มิ.ย. 63 )  ที่บริเวณพื้นที่ดินของนายสนั่น และนางไสว ยังทองแก้ว สองสามีภรรยาพร้อมครอบครัว ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 6 บ้านหนองไผ่  ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ได้มีการจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระฉลองแท้งค์น้ำบาดาลใหม่ของหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พื้นที่  หลังจากที่สองสามีภรรยาใจบุญได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นที่ดินสาธารณะในการตั้งแท้งค์น้ำบาดาลขนาดใหญ่ทรงดอกเห็ด  ไว้ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ หลังจากที่ ต.ทุ่งหลวง ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำขาดซ้ำซากเป็นประจำทุกปี  การทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชผักทางการเกษตร  การใช้น้ำอุปโภค บริโภค มีปัญหาทุกปี   พืชผัก ผลไม้ ประสบปัญหา เนื่องจากอยู่นอกเขตชลประทาน เทศบาลตำบลทุ่งหลวงต้องจัดรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทุกปี  ทำให้ชาวบ้านหลายคนพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาภายในชุมชนเพื่อให้มีน้ำใช้ไม่ลำบากกันอีกต่อไป 


           
นายทองห่อ ยอดมี อายุ 65 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6  อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 6 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ กล่าวว่า พื้นที่แถวนี้จะเกิดปัญหาภัยแล้งทุกปี บางปีแล้งขาดน้ำใช้ทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำ มีชาวบ้านหมู่นี้อาศัยอยู่ประมาณ 215 ครัวเรือน  แต่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแท้งค์น้ำนี้ได้ประมาณกว่า 70 ครัวเรือน ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ใช้น้ำประปาอยู่ประมาณ 30 ครัวเรือน แต่มีใช้กันไม่เพียงพอก็เลยมาเพิ่มแท้งค์น้ำบาดาลจุดนี้อีกจุดหนึ่ง ซึ่งได้งบประมาณมาจากภาครัฐต่อยอดจากกองทุนหมู่บ้านส่วนหนึ่งจำนวน 2 แสนบาท  และใช้งบประมาณดอกเบี้ยของกองทุนหมู่บ้านอีก 50,000 บาท มาดำเนินการ ถือว่าเป็นเงินของชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้สนับสนุนมาให้ ส่วนถังแท้งค์น้ำ  ได้ขอจากเทศบาลตำบลทุ่งหลวงในพื้นที่หมู่ 12 ที่ไม่ได้ใช้แท้งค์น้ำใบนี้  จึงนำมาซ่อมแซมปรับปรุงจนสามารถใช้การได้จากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านไม่มีค่าแรงจ้างมาช่วยกันจนสำเร็จ ซึ่งเริ่มขุดเจาะดำเนินการเมื่อเดือนที่แล้ว มีการประชุมวางแผน ชาวบ้านได้มีมติให้แก้ไขเรื่องน้ำก่อน จึงประสานการทำงานเจาะบ่อบาดาลและขอสนับสนุนจากเจ้าของที่ดิน ให้จุดนี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน มีการเจาะความลึกประมาณ 40 เมตร ปริมาณน้ำได้ 7 คิว น่าจะเพียงพอรองรับได้ประมาณนับร้อยครัวเรือน แต่มีชาวบ้านใช้อยู่ประมาณ 77 ครัวเรือน  ส่วนการบริหารจัดการได้เตรียมประชุมชาวบ้านการใช้น้ำถึงการบริหารการเก็บค่าน้ำประปาคิดหน่วยละ 4 บาทและมีทั้งค่าไฟฟ้า ค่าคนจัดเก็บเงินค่าน้ำ ซึ่งจะได้นำเงินเหล่านี้ที่ได้กลับไปพัฒนาสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ปีหน้าคิดว่าเรื่องน้ำประปาไม่ต้องห่วงแล้ว 

   

        
นายนรเศรษฐ์ เรืองพยุงศักดิ์ นายกเทศบาลตำบลทุ่งหลวง กล่าวว่า ในพื้นที่เกิดภัยแล้งค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค  น้ำทำการเกษตร ทางเทศบาลจะมีเรื่องโครงการจ่ายขาดเงินสะสมเรื่องแก้ปัญหาภัยแล้งโดยมีการสำรวจทุกหมู่บ้านว่า แต่ละหมู่  บ้านไหนบ้างมีปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำทำการเกษตรรวม 16 หมู่บ้าน ที่ประสบปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ หมู่ 3 หมู่  4 หมู่  6 หมู่  7 หมู่  14 หมู่ 15 และหมู่ 16  ส่วนพื้นที่ตั้งแท้งค์น้ำนี้ ทางอดีตผู้ใหญ่บ้านได้มาปรึกษาเรื่องอยากทำน้ำประปาและมีถังน้ำอยู่หมู่ 12 ไม่ได้ใช้ จึงอยากนำมาใช้ประโยชน์ ตามปกติจะมีกระบวนการทางราชการถึงการทำประชาคมในพื้นที่และเรื่องที่เกี่ยวข้องมาที่เทศบาล แต่ทางอดีตผู้ใหญ่บ้านได้มาหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนมาก ถ้าชาวบ้านมีความพร้อมเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะใช้งบของกองทุนหมู่บ้านให้มาดำเนินการย้ายถังได้มาตั้งที่จุดนี้เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง ถือว่าหมู่บ้านนี้ได้ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้ใช้งบของเทศบาลด้วย อีกทั้งชาวบ้านยังได้แรงร่วมใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วหมดปัญหาไปอีกพื้นที่หนึ่ง  
                        /////////////////////////////////////
พันธุ์ -  จรรยา  แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี











แก้แล้งไม่ใช้งบหลวง แก้แล้งไม่ใช้งบหลวง Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 21:54 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.