ไฟป่าบ้านคายังลุกลาม



ฝนหลวงหาจังหวะปฏิบัติการดับไฟป่า ขยายวงกว้างกว่า 5 พันไร่แล้ว พยายามเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ให้ได้มาก หลายพื้นที่อับฝน โอกาสทำฝนเทียมยากมาก  วอนชาวบ้านอย่าจุดไฟเผาป่า คุมยากมาก



ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้พยายามหาช่วงจังหวะปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยดับไฟป่าราชบุรี ที่กำลังลุกไหม้ขยายวงกว้าง พบปัญหาความชื้นสัมพัทธ์น้อยเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

               
( 11 มี.ค. 63 ) นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เปิดเผยปัญหาของการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งกำลังเกิดไฟป่าอยู่ในขณะนี้ว่า ศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคใต้มีพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งหมด 20 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี ราชบุรี  สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ รวมกับพื้นที่ภาคใต้อีก 14 จังหวัด  มีการติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำรวมทั้งภัยพิบัติทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ จ.เพชรบุรี ราชบุรีมีปัญหาไฟไหม้ป่าอยู่ มีการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่ไปแล้วช่วงหนึ่ง แต่พบมีปริมาณฝนตกน้อย เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยมาก 



หลังจากได้มีการเปิดจุดปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ซึ่งจะดูแลรับผิดชอบตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ขึ้นไปทางตอนบน ช่วงการปฏิบัติการที่ผ่านมามีฝนตกช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วันที่ 14  มีนาคม ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรีเล็กน้อย ได้พยายามเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในพื้นที่ป่า  มีการประสานขอฝนเข้ามาทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  จึงอยากประชาสัมพันธ์คนในพื้นที่ไม่จุดไฟเผาป่า เพราะอากาศที่ร้อนมากนั้นมีเชื้อเพลิงที่แห้งมาก เมื่อเกิดไฟจะควบคุมได้ยากมากเกิดอันตรายมีควัน จะส่งผลกระทบสุขภาพประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำงาน

             
ปีนี้คาดว่ามีอุปสรรคหลักๆ คือ เป็นเรื่องความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งอยู่ในระดับที่จะเกิดเมฆ และเป็นระดับที่ปฏิบัติการเกิดความชื้นน้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นเมฆก้อนเล็กๆมีความหนาไม่พอที่จะเป็นฝน  ตามหลักวิชาการจะต้องมีเมฆที่มีความหนากว่า 1 กิโลเมตร ความชื้นสัมพัทธ์ต้องได้ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป  เพราะว่าเมฆจะดึงความชื้นสัมพัทธ์จากข้างล่างเข้าไปเลี้ยงตัวก้อนเมฆ  ถ้าความร้อนมากและความชื้นน้อยก็จะทำให้ยากในการปฏิบัติการไม่เกิดผล  นอกจากนี้อยากประชาสัมพันธ์ทั้งอาสาสมัครฝนหลวงและผู้ขอฝน เวลาที่แจ้งเรื่องการขอฝนหรือเรื่องไม่ต้องการฝนนั้น ทางฝนหลวงจะประสานผ่านไปที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อให้หน่วยงานเป็นตัวแทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นตัวแทนของฝนหลวงในจังหวัดได้ทราบข้อมูลที่ตรงกันว่ามีผู้เดือดร้อนด้านการเกษตร หรือประชาชนในพื้นที่จะได้ประสานหน่วยงานร่วมกันทำงานทำให้มีข้อมูลของเกษตรกรที่ตรงกัน 
 
           
สำหรับหน่วยปฏิบัติการที่หัวหินที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะมีเครื่องบินคาราแวนไว้คอยปฏิบัติการจำนวน 3 ลำ  และยังมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ที่จะดูแลพื้นที่ตอนล่าง และมีฐานเติมสารไว้เวลาบินในระยะไกลรวมทั้งเติมน้ำมันอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 

           
ส่วนเรื่องพื้นที่ต้องการฝนทางด้านใต้ตอนบน ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์  อยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบยืนยันพื้นที่  ส่วน จ.เพชรบุรีได้ร้องขอฝนทุกอำเภอ และยังมีพื้นที่ อ.ปากท่อ อ.บ้านคา อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่แปลงสับปะรดและพื้นที่เกิดไฟป่าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะมีอาสาสมัครฝนหลวงคอยรายงานสถานการณ์ โดยจะเป็นตัวแทนเชื่อมต่อกับศูนย์ฯและประชาชนในชุมชน หลังได้รับข้อมูลมาแล้วก็จะนำไปพูดคุยกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้ตั้งกลุ่มไลน์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนลักษณะสภาพอากาศแต่ละพื้นที่กัน เช่น การพบเห็นลักษณะการก่อตัวเมฆขอให้ถ่ายภาพส่งเข้ากลุ่มไลน์เป็นข้อมูล และยังให้อาสาสมัครรายงานเรื่องการร้องขอฝน การเลี่ยงพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงนั้นๆ ที่เกษตรกรปลูกแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนปฏิบัติการทำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย  
 
            
สำหรับพื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรีพบว่ามีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่อับฝน ทำให้มีฝนตกน้อย จึงอยากแนะนำทุกที่ว่า น้ำฟ้าถ้าทำได้อยากทำให้ทุกพื้นที่ แต่หัวใจจริงๆที่ต้องบริหารจัดการให้ได้ คือ ทำอย่างไรให้มีแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่อับฝนหรือเป็นพื้นที่ที่มีฝนน้อย โดยการรอฝนตกนั้นเป็นความเสี่ยงสูงมากที่จะรอ  ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้ติดตามสถานการณ์พื้นที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรีมาตลอด ตั้งแต่ก่อนไฟไหม้รวมทั้งในพื้นที่เพชรบุรีมานาน แต่โอกาสปฏิบัติการนั้นไม่มี เพราะมีปัจจัยสำคัญหลายอย่าง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำฝนในช่วงนี้  จึงขอให้ประชาชนติดตามการรายงานของกรมฝนหลวงผ่านเฟซบุ๊กของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยมีผู้บริหารระดับอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมาของแต่ละวันให้ทราบ สามารถติดตามข่าวสารได้ทุกวันถึงการปฏิบัติการทำฝนเทียมในแต่ละศูนย์ฯที่ประจำอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ หรือโทรศัพท์ติดต่อขอฝนได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เบอร์  077-953062

            
อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ จ.ราชบุรีขณะนี้ไฟได้ลุกลามขยายวงกว้างหลายจุดเข้าสู่วันที่ 5  บริเวณบ้านโป่งกระทิง บ้านบางกะม่า บ้านพุน้ำร้อน อ.บ้านคา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี  และเขตอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน  สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศ มากกว่า 5 พันไร่แล้ว และยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าได้ แม้เจ้าหน้าที่จะสนธิกำลังจากหลายฝ่าย รวมทั้งราษฎรจิตอาสา ชาวบ้านในพื้นที่ เข้าปฎิบัติการดับไฟทั้งกลางวัน และกลางคืน  บางจุดไฟได้ลุกลามขึ้นสู่ยอดเขา  ยากต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ขณะนี้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้วิ่งหนีตายออกมาจากผืนป่าได้รับบาดเจ็บมีทั้งกวางป่า ลูกหมีหมา สัตว์ป่าบางชนิดที่ทางเจ้าหน้าที่ไปพบนอนตายจมอยู่ในกองเพลิงอย่างน่าเวทนา 
                                         ////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา   แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี



ไฟป่าบ้านคายังลุกลาม ไฟป่าบ้านคายังลุกลาม Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 00:21 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.