เจาะบ่อบาดาลที่ราชบุรี



นำร่องแก้ภัยแล้งจังหวัดแรก ที่สร้อยฟ้าโพธาราม และบางพัง บ้านโป่ง ใช้เทคโนโลยีทันสมัยกว่าเก่า  กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเล็งเป็นผลงานโบว์แดง  ให้ทุนมาทำวิจัย  หากสำเร็จเดินหน้าหาน้ำบาดาลทั่วประเทศต่อไป



ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ปล่อยขบวนรถขุดเจาะบ่อบาดาลขนาดใหญ่  นำร่องแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นจังหวัดแรกของประเทศ โดยพัฒนาน้ำบาดาลกับน้ำผิวดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองมาให้ได้คุณภาพที่ดี

                 
เวลา 10.00 น. ( 3 ก.พ. 63 )  นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี  พ.อ.ชัยณรงค์ สุภาพันธ์ ผู้บังคับกองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษ กองพลทหารช่าง ผู้แทนเจ้ากรมการทหารช่าง ร่วมปล่อยขบวนรถขุดเจาะบ่อบาดาลขนาดใหญ่ (RBF) เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   หมู่ที่ 1 ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี  หลังเกิดสภาวะภัยแล้งขึ้นส่งผลกระทบให้แม่น้ำสายหลักของประเทศไทย ลดระดับลงจนเกือบแห้งขอด รวมถึงการรุกคืบของน้ำเค็มเข้าสู่แม่น้ำต่างๆ  เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำท่าจีน การลดระดับลงจนเกือบแห้งขอด ของแม่น้ำสายหลัก ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค ที่เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากไม่รีบแก้ไขปัญหาจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาจากแม่น้ำสายหลักได้  บางพื้นที่หยุดการส่งน้ำให้กับประชาชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  



กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ดำเนินการเจาะบ่อบาดาลขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ทำการสูบน้ำใต้ตะกอนท้องน้ำมาใช้ร่วมกับน้ำบาดาล โดยสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ตลอดทั้งปี  แม้ว่าในแม่น้ำสายหลักจะเกิดการลดระดับลงจนแห้งขอด โดยน้ำที่สูบขึ้นมาใช้ยังเป็นน้ำสะอาด ผ่านกระบวนการการกรองของชั้นกรวดทรายตามธรรมชาติ สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ในปริมาณที่มากกว่าบ่อน้ำบาดาลตามปกติไม่น้อยกว่า 20-30 เท่า 


             
สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ได้เร่งดำเนินการในพื้นที่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม วัดบางพัง อ.บ้านโป่ง จ.ราบุรี  เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งมีชุมชนขนาดใหญ่ มีความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพิ่มมากขึ้นและบ่อบาดาล ที่ใช้อยู่เดิมซึ่งเป็นบ่อบาดาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา เนื่องจากระดับน้ำบาดาลได้ลดตัวลงจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้  สำหรับการพัฒนาน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ (Riverbank Filtration ) บริเวณทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว จะสามารถพัฒนาน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า วันละ 6,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 28,000 คน 

             
นายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี กล่าวว่า  วันนี้ได้ปล่อยขบวนขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ เป็นการดำเนินการนำร่อง 2 พื้นที่ใน จ.ราชบุรี  โดยทั้ง 2 บ่อ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีครั้งแรกของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาจะดำเนินการเจาะบ่อบาดาลขนาดเล็ก  แต่ในพื้นที่ชุมชนใหญ่ๆปริมาณน้ำช่วงหน้าแล้งจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ  ทำให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้พัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลริมแม่น้ำดูดน้ำร่วมกับน้ำผิวดิน โดยคาดการณ์ว่าทั้ง 2 แห่งนี้ จะสามารถดูดน้ำได้วันละ 6,000 คิวต่อวัน  จะมากกว่าบ่อน้ำบาดาลปกติ  



จุดเริ่มต้นเมื่อทำสำเร็จแล้วก็จะกระจายเทคโนโลยีและวิธีการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย  โดยแนวโน้มในอนาคตของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็จะเริ่มการเจาะบ่อบาดาลขนาดใหญ่ขึ้นและมีการกระจายน้ำที่ไกลมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพ  ส่วนคุณภาพของน้ำที่ผลิตจะดีมาก เนื่องจากวิธีการเจาะแบบนี้จะเคยดำเนินการในประเทศแถบยุโรป อเมริกา  ซึ่งเมื่อก่อนประเทศยุโรปจะมีการปล่อยสารเคมีลงแม่น้ำ โดยมีการพัฒนากระบวนการนี้ขึ้นมาเรียกว่า Riverbank Filtration
  

โดยน้ำที่ได้จากกระบวนการนี้จะเป็นน้ำที่สะอาดมากและถูกกว่าน้ำผิวดิน เพราะการผลิตน้ำประปาจะไม่ใช้คลอรีน น้ำที่ได้จะปราศจากเชื้อแบคทีเรีย และโลหะหนัก โดยพื้นที่ 2 แห่งดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนำร่องจังหวัดแรกของประเทศ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ให้ทุนมาศึกษาวิจัย หากดำเนินการสำเร็จ จะทำแผนกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ 
                                                      //////////////////////////////////
พันธุ์  -  จรรยา   แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี






เจาะบ่อบาดาลที่ราชบุรี เจาะบ่อบาดาลที่ราชบุรี Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 02:25 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.