สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) จ.ราชบุรี จัดฝึกอบรมสาธิตการช่วยเหลือสัตว์ป่า ที่รบกวนสร้างความเดือดร้อนชาวบ้าน มีการนำงูมีพิษและไม่มีพิษมาสาธิตการจับที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ หน่วยกู้ภัยใช้เป็นแนวทางปฏิบัติช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา นายยุทธชัย ปัทมสนธิ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 ( บ้านโป่ง ) จ.ราชบุรี นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า จัด ฝึกอบรมให้ความรู้การปฏิบัติงานช่วยเหลือสัตว์ป่า ที่รบกวนหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง ) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยมีพนักงาน เจ้าหน้าที่ มูลนิธิในพื้นที่เข้าร่วมฝึกอบรม
หลังจากปัจจุบันปัญหาของสัตว์ป่า ที่สร้างความเดือดร้อน รบกวน ทำร้าย หรือทำอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น ลิง เหี้ย งู นก ดูได้จากสถิติข้อมูลการรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับสัตว์ป่าทางโทรศัพท์สายด่วน 1362 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ขอความช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่ออกไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากไม่มีการจัดการที่ดี ประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หรือสัตว์ป่าได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแล้ว สัตว์ป่าอาจจะได้รับอันตรายจากกระทำของชาวบ้านได้
เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้จัดฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ อาสาสมัครกู้ภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ปฏิบัติงานไม่ให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่า และสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว
นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ และกลุ่มอสรพิษวิทยามาเป็นวิทยากรบรรยายและสาธิตการจับงูหลายชนิด หลังจากพบงูในธรรมชาติส่วนหนึ่งถูกทำร้ายจากคน รวมทั้งบางคนอาจถูกสัตว์ทำร้าย ทำให้ต้องมีการจัดฝึกอบรมขึ้นให้กับหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 60 คน ภาคเช้าเป็นภาคทฤษฎี เรียนรู้ข้อกฎหมายเนื่องจากงูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ภาคบ่ายเป็นภาคปฏิบัติฝึกให้เจ้าหน้าที่รู้จักพฤติกรรม การฝึกจับงูโดยไม่ทำให้งูและคนจับไม่เป็นอันตรายเกิดความปลอดภัย
นายนิรุทธ์ ชมงาม อายุ 37 ปี นักธรรมชาติวิทยา วิทยากรสาธิตการจับงู เปิดเผยวิธีการจับงูที่ปลอดภัยว่า ฝึกจับงูมาตั้งแต่เด็กเกือบ 30 ปี การจับงูนั้นไม่ยากแต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมของงูและกระทำด้วยความไม่ประมาทถือเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งการจับงูบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน อาจทำให้เราประมาท ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นงูอะไรก็ตามต้องทำด้วยความไม่ประมาทดีที่สุด ส่วนวิธีการมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความชำนาญ บางครั้งถ้าเข้าใจพฤติกรรมและเกิดความชำนาญอาจจะใช้มือเปล่าจับงูก็ได้ แต่ไม่แนะนำกับคนทั่วไป โดยอยากให้ใช้อุปกรณ์การจับงูมากกว่าการจับด้วยมือเปล่า เช่น บ่วง หรือไม่ตะขอดีที่สุด ซึ่งตนเองไม่เคยพลาดกับการจับงูมีพิษแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากงูที่ไม่มีพิษไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ก็จะใช้มือเปล่าจับโดยที่กัดแล้วจะไม่เป็นอันตราย สิ่งที่ได้มาเผยแพร่ความรู้ตั้งใจอยากให้เจ้าหน้าที่และงูเกิดความปลอดภัยด้วยกันทั้งคู่
สำหรับบรรยากาศช่วงบ่ายมีการสาธิตการฝึกจับงูจริง ๆ นำงูเห่า งูจงอาง งูหลาม งูเหลือม และงูอีกหลายชนิดมาให้เจ้าหน้าที่ส่วนสัตว์ป่า หน่วยกู้ภัยจากมูลนิธิต่าง ๆได้ฝึกทดลองจับงูจริง แนะนำอุปกรณ์การจับ ได้แก่ ตะขอเหล็ก และบ่วงที่ทำจากท่อน้ำพีวีซี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้สำหรับคล้องคองูพร้อมกับค่อย ๆ ใช้มือจับที่บริเวณหางเพื่อยกตัวขึ้นใส่ถุงพลาสติกสีดำ ส่วนอุปกรณ์ตะขอเหล็กส่วนใหญ่จะใช้จับงูที่มีพิษและต้องอาศัยความชำนาญในการจับงูจงอาง งูเห่า มากกว่างูทั่วไปที่ไม่มีพิษ โดยเจ้าหน้าที่จะใช้ตะขอค่อย ๆ กดหัวงูลงให้หมอบกับพื้นและใช้มือจับที่หัว นำใส่ถุงพลาสติกสีดำทึบเพื่อเตรียมนำไปปล่อยคืนธรรมชาติ
ช่วงการสาธิต หลายคนยังตื่นกลัว หวาดเสียว เมื่องูจงอาง งูเห่า ขนาดใหญ่ยกตัวแผ่แม่เบี้ยสูงเกือบเอว บางคนกล้า ๆ กลัว ๆ โดยนายนิรุทธ์ ชมงาม วิทยากรสาธิต การจับหัวงูจงอางที่เป็นสัตว์ดุร้าย มีลำตัวใหญ่ยาวเกือบ 4 เมตร ให้ผู้เข้าอบรมได้สัมผัส เผื่องูเข้าบ้านจะไปปฏิบัติได้ถูกวิธีและปลอดภัยทั้งคนและสัตว์
////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
จับงูให้เป็นเน้นปลอดภัย
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
01:59
Rating: