ภูฏานนำคณะมาดูงานศึกษาการเลี้ยงอย่างครบวงจรทำรายได้ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี
วิสาหกิจชุมชนไก่งวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ต่อยอดการเลี้ยงไก่งวงเกือบ 600 ตัว มีการแปรรูปสินค้าทั้งเนื้อไก่งวงจำหน่ายหลากหลายเมนู อีกทั้งนำขนไก่งวงที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน มาสร้างมูลค่าเพิ่มสามารถขายได้กิโลกรัมละถึง 2,000 บาท นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สไตล์ต่าง ๆ รูปแบบแฮนเมด ทั้งหมวก สายคาดหมวก ขณะที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จากประเทศภูฎานเดินทางมาศึกษาดูงานเทคนิคการเลี้ยงด้วยความสนใจ
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 2 ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มีนางสาวศรีสุนันท์ เดชบุตร อายุ 40 ปี เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 20 รายได้เริ่มเลี้ยงไก่งวงสายพันธุ์อเมริกันบอลลักษณะตัวสีดำใหญ่ สายพันธุ์สมอลไวท์ลักษณะตัวสีขาว และอีกหลายสายพันธุ์ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วสำหรับการเลี้ยงไก่ของที่นี่เกือบ 600 ตัว มีการนำเนื้อไก่งวงมาแปรรูปทำอาหารหลากหลายที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำพริกไก่งวง ไก่งวงจ้อทอด ลาบไก่งวง ผัดเผ็ดไก่งวง และยังมีไก่งวงอบ มีทั้งขายเป็นตัวเป็นผลิตภัณฑ์ส่งจำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดได้รับความสนใจจากธุรกิจโรงแรม ร้านค้าต่างๆทั้งตลาดนัดเกษตรกรของรัฐ รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบเนื้อไก่งวงสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทำให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทางกลุ่มฯยังได้มีแนวคิดนำขนไก่งวงที่ร่วงหล่นตามพื้นดินช่วงเวลาที่ไก่งวงผลัดขนในแต่ละปี มาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาประดิษฐ์เป็นหมวก ไม้คฑาลักษณะเป็นกรงเล็บไก่งวง ซึ่งมีความเชื่อว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล และผลิตภัณฑ์อื่นๆสไตล์ที่แปลกเป็นงานแฮนเมดที่ตั้งใจทำด้วยใจรักในงานฝีมือ
นางสาวศรีสุนันท์ เดชบุตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจไก่งวงราชบุรี กล่าวว่า ตอนนี้เลี้ยงไก่งวงอยู่ประมาณ 500-600 ตัว ส่วนขนที่จะนำไปใช้ในการทำหมวกจะใช้ความยาว 10-12 นิ้วเป็นขนบริเวณปีก แต่ถ้าจะเอาไปทำจำพวกอย่างอื่นเช่น เครื่องประดับจะใช้ขนาดเล็กลง ไป จะแยกลักษณะขนาดขนสั้น ขนยาว ขนนุ่ม ขนปลายปีก จะขายส่งอยู่กิโลละ 2,000 บาท หรือประมาณเส้นละ 2 บาท หลังจากแยกขนาดแล้วก็นำไปซักโดยใช้ยาสระผมนำไปปั่นในเครื่องซักผ้าปั่นแห้งก็เสร็จใช้การได้แล้ว เป็นการขายนอกเหนือที่เราขายเนื้อไก่งวงไปแล้ว ยังสามารถนำขนไก่งวงมาสร้างงานสร้างอาชีพต่อได้อีก สามารถให้คนในชุมชนที่เป็นผู้สูงอายุ หรือคนว่างงานมาทำเครื่องประดับ หมวก สายคาดหน้า ได้หลากหลายชิ้นงาน โดยเราจะส่งให้สมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันทำขึ้น จากนั้นก็จะมีเพื่อนรับไปขายต่อให้ลักษณะเป็นเครือข่ายต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมากจะเป็นจ๊อไก่งวง ขายกิโลกรัมละ 300 บาท น้ำพริกเผาไก่งวง ไส้อั่วไก่งวง ถ้าเป็นเนื้อชำแหละหน้าฟาร์มขายกิโลกรัมละ 180 บาท
ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาส่งเสริมด้านการแปรรูป ให้คำแนะนำมาตรฐานการเลี้ยง ส่วนสำนักงานเกษตร อ.ปากท่อ ช่วยเรื่องช่องทางการตลาด หาช่องทางการขาย แนะนำการขาย นำไปออกบูธต่าง ๆ
นายพลชัย เข็มเจริญ หรือ ต๋อง อินเดี้ยน กล่าวว่า เกิดจากวิสาหกิจชุมชนที่นี่ ซึ่งทำตามไก่งวง ทำเนื้อไก่งวงไปแปรรูป หลังจากนั้นเหลือวัตถุดิบถือเป็นสิ่งที่มีค่า ซึ่งมีน้อยกลุ่มมากที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ส่งต่อเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ ช่วยเหลือพี่น้องในกลุ่มวิสาหกิจสามารถสร้างงาน ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทยที่นิยม ต่างประเทศยังคงให้ความสนใจนิยมทำกันมาก ไม่ว่าจะขนจากชิ้นส่วนต่างๆหลายขนาดที่มีคุณค่า มีความหมาย รูปแบบที่ทำขึ้นมานี้เป็นแบบของอเมริกันพื้นเมืองเป็นรูปแบบของชาวอินเดียนแดงทางโซนของอเมริกา มีวัตถุดิบทั้งขนอ่อน ขนใหญ่ ขนเล็ก เช่น แบบหัววอเวนเนต เป็นหัวนักรบชนเผ่าซึ่งมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ หรืออีกหลายแบบที่สร้างขึ้นเพื่อใส่ในการเฉลิมฉลอง นอกจากนี้ยังมีเข็มขัดคาดหมวก เข็มขัดคาดหน้า แนวยิปซี และเครื่องประดับได้อีกหลายอย่าง และที่นี่ยังต่อยอดเชิงด้านการท่องเที่ยวได้ สามารถไปในแนวรูปแบบคาวบอย ยิปซี รูปแบบอินเดี้ยน น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต
สำหรับการจำหน่ายมาจากพรีออเดอร์ และงานครอสซูม ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง ถ่ายรูปพรีเวดดิ้งจะนิยมใช้กันบ่งบอกความรักที่บริสุทธิ์และอมตะ ถูกกำหนดตายตัวโดยธรรมชาติเป็นสินค้าแฮนเมด งานทำมือจึงทำให้ดูมีคุณค่าและมีราคา ซึ่งสามารถเก็บขนไก่งวงได้ช่วงปลายฝนต้นหนาวยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนราคามีขายตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นบาท อย่างหัวที่ใส่มีราคาตั้งแต่ 5,500 บาท – 25,000 บาท
นายโชคดี ตั้งจิตร เกษตรอำเภอปากท่อ เปิดเผยว่า คณะกรมปศุสัตว์ของราชอาณาจักรภูฎานได้มาขอดูงานด้านการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ปีกของประเทศไทย ที่วิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี กว่า10 ราย เป็นกลุ่มฯที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรได้มาตรฐานฟาร์มของปศุสัตว์ มีการจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรในขณะนี้ มีการผลิตพันธุ์ไก่งวงโดยการฟักและขยายพันธุ์และจำหน่ายพันธุ์ไก่งวงด้วย ฟาร์มนี้ยังเป็นฟาร์มที่บุกเบิกเรื่องการเลี้ยงไก่งวงให้กับฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการตลาด การแปรรูป การสร้างงาน สร้างรายได้ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร หรือ สปก. อำเภอปากท่อ ทำให้ราชอาณาจักรภูฎานเลือก จ.ราชบุรี เพื่อเดินทางมาศึกษาดูงานเนื่องจากมีจุดเด่นด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ มีความเด่นระดับต้นของประเทศ
///////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ไก่งวงราชบุรีสร้างชื่อ
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
01:25
Rating: