รร.พิบูลสงครามอุปถัมภ์ ห่วงใยข่าวเด็กติดในรถ ประสานตำรวจติวเข้มจำลองของจริงสอนเด็กนักเรียน
( 16 ส.ค. 65 ) ปัญหากรณีเด็กนักเรียน หรือ เด็กเล็กติดในรถยนต์ ซึ่งเคยเกิดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่มูลนิธิหน่วยกู้ภัยต่างๆได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือนำเด็กๆออกมาจากรถด้วยความหลงลืมของพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นปัญหาสังคมที่น่าจะมีการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในการเอาตัวรอดเมื่อเจอเหตุการณ์ดังกล่าว
ทำให้โรงเรียนพิบูลสงครามอุปถัมภ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้เห็นความสำคัญจึงได้ทำหนังสือประสาน พล.ต.ต.ปิติ นฤขัตรพิชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี และ พ.ต.อ.ธานินทร์ ฉัตรเจริญพร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจ.เพชรบุรี รักษาราชการแทน ผู้กำกับ สภ.เมืองราชบุรี พ.ต.ท.อำนาจ ปรีชาวาท รอง ผกก.จร.สภ.เมืองราชบุรี พ.ต.ท.สมพร แดงมณี สว.จร.สภ.เมืองราชบุรี เพื่อขอให้ตำรวจจราจรกู้ชีพฉุกเฉิน สภ.เมืองราชบุรี ซึ่งมี ร.ต.ท. ไชยกุล กิจดนตรี รอง สว.(จร.) สภ.เมืองราชบุรี ว่าที่ ร.ต.ต.วิเชียร มณีวิหก รอง สว.(จร.) ร.ต.ต.ยอดชาย ปานเจริญ รองสว.(ป.) สภ.เมืองราชบุรี และ ด.ต.ปรีชา อินทร์เผือก ผบ.หมู่ (จร.) สภ.เมืองราชบุรี มาเป็นวิทยากรบรรยาย
โครงการชุมชนสัมพันธ์จัดกิจกรรมป้องกันเด็กติดในรถตู้และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในหัวข้อการแก้ไขปัญหาให้มีสถานการณ์เมื่อติดอยู่ในรถตู้ให้แก่นักเรียนชั้นปฐมวัย ให้เด็กๆได้เกิดการเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดด้วยสติปัญญา การใช้อุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่อยู่ด้านใน สามารถเปิด หรือ บีบแตรที่พวงมาลัยเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ที่อยู่ด้านนอกรถได้รู้หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
หลังจากที่ให้ความรู้แก่เด็กๆในห้องเรียนเรื่องป้ายสัญลักษณ์ต่างๆที่พบเห็นในชีวิตประจำวันแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจวิทยากรจำเป็น ได้พาไปทดลองนั่งรถตู้ของสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี ซึ่งได้นำมาใช้ในการปฏิบัติการจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง และใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในรถได้ถูกต้อง เวลาที่ติดอยู่ในรถยนต์ควรใช้มือไปสัมผัสปุ่มอุปกรณ์ตรงไหนบ้างที่จะสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ออกจากรถได้ หรือ ให้คนข้างนอกเข้ามาช่วยเหลือตัวเองให้รอดพ้นออกจากรถได้
โดยเด็กๆบางคนก็ยังรู้สึกกล้าๆกลัวๆ บางคนก็อยากทดลองกดปุ่มเล่นเล่นไป หลายคนอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก พี่ตำรวจก็ใจดีพาน้องๆขึ้นไปทดลองนั่งที่ด้านคนขับ แล้วให้ใช้มือกดแตรที่อยู่บริเวณพวงมาลัยให้เกิดเสียงดัง ถือเป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่จะช่วยเหลือเตือนภัย และในการช่วยชีวิต หากมีเหตุการณ์ติดในรถตู้โดยสาร หรือ รถยนต์ของผู้ปกครองได้ ซึ่งโครงการนี้ถือว่ามีประโยชน์ต่อสถานศึกษาที่มองเห็นความสำคัญในชีวิตและความปลอดภัยของนักเรียน ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวที่เศร้าสลดซ้ำรอยในสังคมอีก
/////////////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี