ที่วางตะเกียบแนวนู้ด ศิลปะบนชิ้นงานคู่อาหารบนโต๊ะ ของอดีตขรก.บำนาญ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564
ไอเดียสุดเก๋ ความคิดแปลกใหม่ ของอดีตข้าราชการบำนาญ ที่ จ.ราชบุรี ใช้เวลาว่างอยู่กับบ้านช่วงโควิด - 19 สร้างสรรค์ชิ้นงานโดยใช้ดินเหนียวปั้นเป็นศิลปะ Nude (art) ประติมากรรมเป็นรูปหญิงสาวนอนชันเข่าใช้วางตะเกียบบนโต๊ะอาหารมองเพลินตา
( 14 ก.ย. 64 ) หลายคนคงเคยชินกับการใช้ตะเกียบคีบอาหารแทนซ้อน หรือ จะใช้ควบคู่กับช้อนรับประทานอาหารบนโต๊ะ โดยเฉพาะอาหารประเภทที่เป็นเส้นบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว หรือ ข้าวต้มรอบดึก และอีกหลากหลายเมนูที่ต้องใช้ตะเกียบ ส่วนใหญ่จะวางตะเกียบไว้บนพื้นโต๊ะ หรือ วางบนจานแล้วแต่ความถนัด เป็นเรื่องธรรมดาของการรับประทานอาหาร เพราะมีตะเกียบที่ทำจากไม้ และทำจากพลาสติก ไว้คีบอาหารสะดวกในการกิน
แต่วันนี้จะพาไปดูความแปลกใหม่ ของงานประติมากรรมที่วางตะเกียบ ดูแบบธรรมดา ๆ แต่มองแล้วไม่ธรรมดา เพราะมีความรู้สึกแปลกตา แปลกใจ อมยิ้มที่มุมปากนิด ๆ เมื่อได้เห็น ที่จินตนาการสร้างสรรค์มาจากดินเหนียว ออกมาเป็นประติมากรรมที่สวยงามออกแนวศิลปะ Nude (art) ได้อย่างน่าทึ่ง ลักษณะเป็นหญิงสาวนอนเปลือยกายชันเข่า แยกขาเล็กน้อย ไม่สวมเสื้อผ้า มีตะเกียบ 1 คู่ วางอยู่ระหว่างขาทั้งสองข้าง โดยที่ปลายตะเกียบจะวางบนทรวงอก ปลายกระดกขึ้นจากพื้นโต๊ะเล็กน้อย สีผิวของดินเหนียวที่ผ่านการปั้นและตากแห้งจนเริ่มแข็งตัวละเอียดสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีงานปั้นรูปทรงต่าง ๆ อีกหลายอย่าง เช่น เตาปิ้งย่างขนาดเล็ก กระถางปลูกต้นไม้หน้ายักษ์ รูปแบบยิ้ม แยกเขี้ยว รูปหน้าคนจมูกใหญ่ และอีกหลายรูปแบบไว้ปลูกต้นไม้วางโชว์บนโต๊ะ และยังมีกระถางรากุที่ผ่านการเผาด้วยความร้อน มีลวดลายและสีสันตามธรรมชาติไว้ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ ประดับตกแต่งบ้าน หรือ วางโชว์บนโต๊ะทำงานดูสวยงาม
ชิ้นงานทั้งหมดนี้ เป็นงานด้านศิลปะแบบแนวคิดสร้างสรรค์ ของอาจารย์อุดม นิลรัตน์สุวรรณ อายุ 69 ปี อดีตข้ารายการบำนาญ อยู่บ้านเลขที่ 19/3 หมู่ 5 ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี เรียนจบวิทยาลัยครูสวนสุนันทา สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ปริญญาโทเทคโนโลยีด้านการศึกษาและอาชีวะศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เคยรับราชการหลายตำแหน่ง และยังเป็นครูสอนพิเศษการเขียนวาดภาพลายการ์ตูน ให้แก่นักเรียนมัธยมหลายแห่ง หลังเกษียณอายุราชการได้อยู่กับบ้านออกแบบปั้นรูปตามความถนัดของตนเอง
อาจารย์อุดม นิลรัตน์สุวรรณ เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า พอมีความรู้เรื่องศิลปะ เรื่องวาดรูป การปั้น ภาพพิมพ์ การออกแบบ ช่วงโควิดไม่ได้ออกไปสอนพิเศษเด็ก ๆ จึงใช้เวลาปั้นกระถางแบบต่าง ๆ เก็บไว้ พอปั้นและเผาออกมา มีคนมาเห็นแล้วเอาไปโพสต์รูปผ่านเฟซบุ๊ก จนมีคนสนใจเยอะมาก อย่างตุ๊กตาหน้ายักษ์ มีดีไซน์มาจากฝรั่งเรียกว่าติ๊กิมาก่อนแล้ว มาดีไซน์ให้เป็นเอกลักษณ์ มีลูกเล่นของเราเอง จะได้ชิ้นงานแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร เอาไว้ใส่พันธุ์ไม้เล็ก ๆ อย่างแคคตัส คนเห็นมองเป็นของแปลกมีรูปทรงแปลกตาต่างกันไป เอาไว้เป็นตำราตัวอย่างสอนเด็ก ๆ ตามจินตนาการของเรา และยังปั้นเตาไว้ใช้อุ่นอาหารได้เองไม่ต้องไปซื้อ แถมปิ้งย่างก็ได้
อาจารย์อุดม บอกว่า เรื่องที่วางตะเกียบนั้น นั่งคิดอยู่นาน มีวันหนึ่งกินอาหารแล้วนำตะเกียบวางไว้บนพื้นโต๊ะกินข้าว จึงคิดว่าถ้าทำแบบที่วางธรรมดาก็ไม่เท่ จึงได้เปิดหนังสือดูกลุ่มงานศิลปะของฝรั่ง มีงานประติมากรรม จึงปิ๊งไอเดียปั้นชิ้นงานวางบนโต๊ะอาหารสามารถใช้สอยได้ด้วย จึงเป็นที่มาของชุดวางตะเกียบ พอโพสต์ออกไปมีคนสนใจมาก ช่วงโควิดอยากให้มานั่งปั้นดินทำงานศิลปะปั้นเอง ใช้เอง หลังเกษียณอายุได้ไปสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปั้นกระถางต้นไม้ สอนวาดรูป สอนทำขนมปังเป็นรูปแบบแปลก ๆ อย่างกระถางหน้ายักษ์ เอาไว้ใส่แคคตัส
การปั้นไม่ยุ่งยาก ให้ได้สร้างสรรค์ชิ้นงานกันเองตามจินตนาการ ใช้ดินเหนียวที่ต้องสั่งซื้อราคาไม่แพง ถุงหนึ่งราคาประมาณ 500 บาท สามารถปั้นขายชิ้นงานได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 - 3,000 บาท ต้องไปผ่านกรรมวิธีตากแดดให้ดินแห้งสนิท ต้องทิ้งไว้ระยะหนึ่งประมาณ 15 วัน ช่วยไล่น้ำที่อยู่ในดินออกไปหมด ก่อนเอาไปเผาด้วยความร้อน เพื่อไม่เกิดการแตกหัก หากใช้เวลาการเผาที่เร็วไป ก็จะเกิดการแตกร้าวหักได้ พอเผาแห้งหรือเรียกว่าเผาสุก หรือเรียกว่าเผาดิบเพื่อให้ดินสุกก่อน พอสุกแล้วจะมีลักษณะเป็นดินสีแดง แต่หากนำไปเผาลงสีจากดิบแล้ว ก็ต้องเผาอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้สีสันที่สวยงาม ถือเป็นงานแฮนด์เมดที่มีชิ้นเดียวในโลก ถ้าเผาดิบธรรมดาจะขายอยู่ประมาณใบละ 50 บาท แต่หากลงสีถ้ามีคนมาซื้อจำนวนมากจะขายเริ่มต้นที่ชิ้นละ 80 บาท หากเป็นกระถางหน้ายักษ์ขายชิ้นละ 100 บาท
นอกจากนี้ยังมีการปั้นแบบแบบกระถางรากุ พอปั้นสุกลงสีเรียบร้อยแล้ว ต้องนำไปเผาในใบหญ้าอีกครั้งหนึ่ง ถึงจะออกมามีลักษณะดำลวดลายแปลกตา ถือเป็นแนวแบบญี่ปุ่นโบราณที่หลายคนนิยมสะสมกัน สำหรับเด็ก ๆ หรือบุคคลคนทั่วไป อยากจะมาเรียนก็ยินดีสอนให้ฟรี เพื่อจะได้นำวิชาไปต่อยอดทำเป็นเป็นอาชีพได้ในอนาคต
//////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
ที่วางตะเกียบแนวนู้ด
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
04:51
Rating: