โควิดทำฟาร์มกุ้งโคม่า


โควิดทำฟาร์มกุ้งโคม่า  ตลาดเงียบสนิทวอนรัฐพักหนี้

นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เรียกร้องรัฐเร่งช่วยเหลือพักชำระหนี้เกษตรกร 6 เดือน  หลังประสบปัญหาโควิด -19 แพร่ระบาด ส่งผลกระทบไปทุกอาชีพ ขณะที่คณะกรรมการ คสม.ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนช่วยสนับสนุนบริโภคกุ้ง 

                  

( 23 ก.ค. 64 ) นายเสฏฐนันท์  อังกูรภาสวิชญ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง (คสม.) พร้อมคณะกรรมการฯ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของเกษตรกร หมู่ที่ 6 ต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี เพื่อหาแนวทางในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาสนับสนุนบริโภคกุ้งปลอดสารพิษให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งมองช่องทางการจำหน่าย  หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด -19 ทำให้กุ้งที่เลี้ยงของเกษตรกรไม่มีที่จำหน่าย  ตลาดใหญ่ถูกปิดตัว อีกทั้งเกษตรกรยังต้องมีหนี้สินการผ่อนชำระกับธนาคารทำให้ได้รับความเดือดร้อนหนัก   


 
นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และเจ้าของประกอบฟาร์ม เปิดเผยว่า พื้นที่การเลี้ยงในเขตราชบุรีเกือบ 2 หมื่นไร่ ถ้ารวมพื้นที่ภาคกลาง 4 จังหวัด มีเนื้อที่ค่อนข้างมาก ทั้งสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สำหรับอำเภอบางแพ นับว่าเป็นเมืองหลวงของกุ้งก้ามกรามซึ่งอยู่ระหว่างการทำ GI เป็นกุ้งเฉพาะถิ่นมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ของอำเภอ  ช่วงนี้ไม่ใช่เกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างเดียวที่เดือดร้อน สัตว์น้ำทุกชนิดได้รับผลกระทบหมด ไม่สามารถส่งออกสู่ตลาดได้ 

วันนี้ได้เชิญสื่อมวลชนมาดูการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีความเดือดร้อนมากน้อยเพียงใด  เลี้ยงสัตว์น้ำใช้ต้นทุนมาก  เข้าใจและเห็นใจภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ วันนี้ไม่ต้องการเงินช่วยเหลือเกษตรกร เพราะว่าเงินที่นำมาช่วยเหลือเกษตรกร ไม่สามารถต่อลมหายใจให้เกษตรกรได้  ตั้งแต่โควิดระบาดมานานหลายระลอกแล้ว เกษตรกรมีการเรียนรู้และมีการดำเนินการว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร แต่วันนี้เหมือนกับมีอาการเข้าโคม่าแล้ว  ทำอย่างไรที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ว่า หลายอาชีพได้รับความเดือดร้อน  

                

อยากให้ทางภาครัฐ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบว่า  การที่จะทำอะไร จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียน อันดับแรกอยากให้พักหนี้เกษตรกรได้หรือไม่ ในรอบหนึ่งเกษตรกรใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน  พักหนี้ พักดอกเบี้ยไปก่อน เมื่อก่อนจับกุ้งจะจบที่เดียวไปเลยได้กุ้งประมาณ 1.5 - 2 ตัน มีเงินมาหมุนใช้ แต่วันนี้ใช้เวลาจับ 1 - 2 ตัน ใช้เวลา 10 วัน วันละ 90 - 100 กก. ค่าแรงชุดหนึ่งที่ใช้ประมาณ 3-5 พันบาท ถ้า 10 ครั้งจะใช้เงินเท่าไหร่  ยังเสี่ยงต่อการจับกุ้งที่ด้อยคุณภาพลงไปเรื่อย ๆ ให้กินอาหารก็ไม่ได้เพราะจะตาย ต้องมีการหยุดการให้อาหารตามกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อตรงนี้ขายได้น้อย พอพักหนี้ เงินที่ขายได้น้อยจะไปทำอะไรได้  เช่น นำไปผ่อนค่าอาหาร เอาไปจ่ายค่าไฟฟ้า ไปจ่ายค่าแรงงานที่มาช่วย ได้มีการต่อลมหายใจต่อไป  ไม่เช่นนั้น  ก็จะมีการทวงหนี้จากภาครัฐ ค่าดอกเบี้ย  ค่าอาหารต่าง ๆ ก็จะต้องตามมาทวงหนี้เกษตรกร


อยากฝากเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบว่า  เป็นปัญหา จะต้องปรับอย่างไร ที่ผ่านมาได้รวมตัวเป็นสมาคมเป็นชมรม เป็นเครือข่ายระดับประเทศ มีการประชุมอยู่ตลอด ได้เสนอปัญหาไปทางอธิบดีกรมประมง ซึ่งได้รับทราบปัญหาไป อยากให้พักหนี้ธนาคาร ธกส.พักดอกเบี้ยได้หรือไม่ ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกร  ออกมาเป็นระเบียบแนวทางช่วยเหลือ ผ่านไปทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนนี้ของที่ตกค้างไม่มีโอกาสที่จะระบายออกไปจากพื้นที่ได้เลย ทำได้คือ  ประคองให้ยาวที่สุด ตายก็ตายไป วันนี้จะลากขึ้นมาให้ดู ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่ระบาดการดูแลเป็นอย่างดี


 
ด้านนายเสฏฐนันท์  อังกูรภาสวิชญ์ เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นคณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี และคณะกรรมการทุกท่านมีความห่วงใยเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง  มาถึงบ่อกุ้งรู้สึกเงียบมาก  หลังจากล็อกดาวน์ เกษตรกรนิ่งสนิท  ไม่มีโอกาสจำหน่ายกุ้งที่หน้าบ่อ หรือส่งไปขายที่อื่น  อยากหาช่องทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ต้องฝากสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เพราะว่าวันนี้มีการลากกุ้งขึ้นมา ถ้าขายไม่ได้ก็เอามากินเท่านั้นเอง ถ้ามีโอกาสอยากให้มาช่วยอุดหนุนกุ้ง นำไปบริโภค เพราะที่นี่เลี้ยงกุ้งแบบปลอดสารพิษ เลี้ยงแบบมีมาตรการด้านความปลอดภัย 

                 

อีกเรื่องคือ เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งอยู่ไม่ได้แน่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ จึงอยากให้ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง ขอให้ช่วยสนับสนุนพักชำระหนี้ อย่างน้อยก็ 3 - 6 เดือน  ฝากถึงรัฐบาลช่วยเหลือด้วย ทราบว่าสัปดาห์หน้าจะมีการพูดคุยถึงการพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้ได้มีโอกาสหายใจช่วงที่โควิด - 19 เกิดขึ้นระลอกนี้ ขอให้อธิบดีกรมประมงช่วยเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย 


 
สำหรับการลากกุ้งวันนี้ทางนายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ได้นำกุ้งใหญ่ขนาด 11-13 ตัว/ กิโลกรัม นำมาทำเมนูอาหาร ทุกคนที่มาได้ชิมกันหลายอย่าง อาทิ กุ้งย่าง กุ้งอบซอส ต้มยำกุ้ง ข้าวผัดกุ้ง แกงเขียวหวานกุ้ง โดยแต่ละตัวมีลักษณะเนื้อแน่น รสชาติหวาน ถ้าได้รับประทานแล้วจะรู้ว่ากุ้งที่นี่สดจากบ่อจริง ๆซึ่งก็ยังสามารถนำมาแปรรูปปรุงอาหารได้อีกหลายอย่างด้วย  สำหรับผู้สนใจสั่งซื่อ  สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว นายกสมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย เบอร์หมายเลข   081 - 8583532                          

////////////////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา   แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี












โควิดทำฟาร์มกุ้งโคม่า โควิดทำฟาร์มกุ้งโคม่า Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 05:40 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.