ผนังถ้ำมีแต่คำ"ประยุทธ์" คาดมือบอนสะท้อนอารมณ์
ทสจ.ราชบุรี วางแผนร่วมชุมชนพัฒนาถ้ำมณีมงคล ต.น้ำพุ อ.เมือง ให้คงสภาพความงดงาม หลังเปิดถ้ำให้นักท่องเที่ยวชมความงดงามระยะหนึ่ง พบดำเนินการยังไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีข้อความขีดเขียนทำลายธรรมชาติ
( 2 มิ.ย. 64 ) นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี นางสาวสรียา บุญมาก ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี นางสาวมิ่งขวัญ บุญโภคัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด นายยศพล ชัยบุลวัชร ปลัดอำเภอเมือง ฝ่ายความมั่นคง พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ รบ. 1 ร่วมหารือ กับพระสมชาย กนตผโร รองเจ้าอาวาสวัดมณีมงคล ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระใบฎีกา ปกรณ์ เขมงกโร เจ้าอาวาสวัดซึ่งอาพาธ นายไพฑูรย์ ปัตนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุ นายสมบัติ เตียงเกตุ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ต.น้ำพุ ในการวางแผนปรับปรุงพัฒนาถ้ำมณีมงคล หรือ ถ้ำเขาหัวคน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ให้คงความงดงาม หลังจาก ททท.ได้แนะนำประชาสัมพันธ์เปิดการเที่ยวถ้ำมณีมงคล ซึ่งได้ถูกปิดถ้ำไปนานมาหลายสิบปีแล้ว และเพิ่งมาเปิดให้มีการท่องเทียวใหม่อีกครั้งไปเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัดเดินทางมาชมภายในถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยที่ดูวิจิตรงดงามรูปทรงแปลกตากันจำนวนมาก มีจิตอาสาเป็นมัคคุเทศก์นำพาเที่ยวชม วันละ 4 รอบ ซึ่งจะต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 205 ขั้น จากนั้นลงบันไดไม้เข้าไปในถ้ำอีก 92 ขั้น รวมไปและกลับประมาณ 594 ขั้น เมื่อลงมาถึงจะพบพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ด้านล่างลักษณะเป็นห้องโถง และส่วนแยกไปยังห้องต่าง ๆ พบแสงไฟสาดส่องหลายจุด ตามทางเดินชมความงดงามไม่มีการติดป้ายและข้อปฏิบัติการเที่ยวชมถ้ำอย่างถูกต้อง บางจุดยังพบการขีดเขียนข้อความบริเวณผนังถ้ำอีกด้วย อย่างคำว่า “ ประยุทธ ” ทำให้หลายคนที่ไปเห็นบอกว่า พวกมือบอนมาเขียนให้ผนังถ้ำเสียหาย และยังมีการขีดเขียนอีกมากมาย
นายไพฑูรย์ ปัตนา นายก อบต.น้ำพุ กล่าวว่า อดีตเคยมาเป็นลูกศิษย์วัด สมัยนั้นมีหลวงพ่อน้อยองค์แรกเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีมงคล ซึ่งเป็นวัดแรกของตำบล โดยหลวงพ่อน้อยยังมีความสามารถพิเศษที่สื่อสารพูดกับลิงและอีกาที่เลี้ยงไว้รู้เรื่อง ตอนที่ตัวเองเป็นเด็กหลวงพ่อเคยพาลงไปเที่ยวห้องโถงในถ้ำซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีลักษณะเขียวเหมือนมรกต ช่วงที่จะเข้าไปจะต้องตะแคงตัวเข้าไปข้างใน ช่วงก่อนนั้นมีชาวกรุงเทพฯ มาเที่ยว และได้ใช้หินทุบที่เรียกว่า ปลาไหลเผือกเป็นลักษณะแท่งหินยาววางคู่กันเอาไปจากถ้ำ ทราบว่าญาติเขาเสียชีวิตไม่นานจึงได้เอากลับมาคืนที่เดิม ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะเมื่อก่อนจะมีแอ่งน้ำไหลตลอด แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีน้ำแล้ว ส่วนเรื่องการขีดเขียนผนังถ้ำเป็นของคนที่เข้ามาเที่ยวจำนวนมาก หลวงพ่อได้ให้ตนเองเข้ามาช่วยดูแลแต่ก็ไม่ทั่วถึง พอมาดูอีกทีก็เห็นเขียนกันเต็มหมดแล้ว
ที่ประชุมนายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผอ.ทสจ. ราชบุรี ได้นำเอกสารเรื่องการประกาศคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ เรื่องข้อปฏิบัติในการคุ้มครองถ้ำ มาให้ทางวัดและชุมชนได้มีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ตามที่กรมป่าไม้ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ ทส. 1603 / 9695 ลงวันที่ 13 พ.ค. 2562 มอบหมายให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขา ดำเนินการสำรวจพิกัดที่ตั้งของถ้ำที่มีศักยภาพเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ท้องที่รายงายผลสำรวจให้กรมป่าไม้ทราบแล้ว รวม 165 ถ้ำ โดยกรมป่าไม้พิจารณาแล้วจึงมีหนังสือประกาศคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ เรื่อง ข้อปฏิบัติในการคุ้มครองถ้ำ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2563 เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่มีถ้ำอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) และประชาชนในท้องที่ทราบเป็นข้อปฏิบัติในการคุ้มครองถ้ำต่อไป
นายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผอ.ทสจ.ราชบุรี กล่าวว่า ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานให้คำแนะนำความรู้เกี่ยวกับการดูแลถ้ำเบื้องต้น ซึ่งถือว่าเป็นระบบนิเวศที่บอบบาง จะมีผลกระทบต่อระบบของถ้ำโดยเฉพาะถ้ำแห่งนี้ยังคงมีสภาพเป็นถ้ำเป็นอยู่ มีหินงอกหินย้อยเกิดขึ้น การที่จะเข้ามาเที่ยวชมคงต้องมีวิธีการปฏิบัติ เช่น จะต้องมีทางเดิน การให้ไฟส่องสว่าง ซึ่งจะเป็นความร้อนเป็นผลกระทบโดยตรงต่อความชื้นภายในถ้ำ มีผลกระทบต่อหินงอกหินย้อยที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการค้นพบถ้ำมากว่า 50-60 ปีมาแล้ว ปรากฏว่าการท่องเที่ยวเดิมอาจจะมีนักท่องเที่ยวบางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้ขีดเขียนสี หรือ ทำให้เป็นรอยตามผนังถ้ำ จำเป็นต้องใช้วิธีการฟื้นฟูตามคู่มือของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้กับผู้นำ โดยจะใช้กรดบางชนิดในการเข้าไปทำให้สีจางลง ส่วนเรื่องไฟแสงสว่างด้านใน ควรอยู่ประมาณ 25 วัตต์ ระยะประมาณ 5 เมตร ถ้า 40 วัตต์ในระยะ 10 เมตร เฉพาะส่องไปที่ทางเดิน ส่วนการส่องไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อชมความงามของถ้ำนั้น คงต้องใช้ไฟที่เป็นลักษณะเฉพาะเป็นจุด ๆ ไป โดยเท่าที่ทราบสถานที่ด้านบนเป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน แต่การใช้ประโยชน์ในการเข้ามาเที่ยวชมปัจจุบันวัดดูแลอยู่ หากพูดตามกฎหมายคงอยู่ในพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 อาจจะดูแลโดยชุมชน ส่วนหน่วยงานไหนจะเข้ามาดูคงต้องตรวจสอบละเอียดอีกครั้ง เรื่องการเที่ยวชมถ้ำจะมีข้อห้ามตามประกาศคณะกรรมการถ้ำแห่งชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและและสิ่งแวดล้อม ติดประกาศไว้เพื่อขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวด้วย
นางสาวสรียา บุญมาก ผอ.ททท. ราชบุรี กล่าวว่า ถ้ำเขาหัวคนเป็นถ้ำอีกแห่งที่บริสุทธิ์อยู่ สมควรที่จะได้รับการดูแลพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะของการดูแลทางธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จากการที่เข้ามาครั้งแรกและครั้งนี้ พบการเปลี่ยนแปลงถ้ำที่ยังมีชีวิตอยู่มีหินงอกหินย้อยเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังพบการขีดเขียนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าการจัดการท่องเที่ยวมีความสำคัญและจำเป็นมาก ชาวบ้านและชุมชนรวมทั้งวัดจะต้องมีความรู้ นักท่องเที่ยวจะต้องมีความตระหนักเรื่องการรักษาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ถ้ำยังคงความบริสุทธิ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะแก่การเรียนรู้อยู่ยั่งยืนยาวนาน
ทั้งนี้จากสถานการณ์โควิด 19 แพร่ระบาด ถ้ำมณีมงคล ได้ถูกปิดลงเป็นการชั่วคราว คาดว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย วัดก็จะกลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงดงาม ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมก็จะต้องปฏิบัติการเที่ยวชมถ้ำที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป
///////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี