"ไม้ใบด่าง"สร้างรายได้


"ไม้ใบด่าง"สร้างรายได้  บทพิสูจน์ในวิกฤติมีโอกาส

หนุ่มน้อยวัย 17 ปี ลูกชายเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวปิ่นโตมาเฮง อ.เมือง จ.ราชบุรี ปิดกิจการชั่วคราว จากผลกระทบโควิด - 19 หันไปเล่นไม้ใบด่างทางออนไลน์ ลูกค้าสนใจสั่งจองสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง รอสถานการณ์คลี่คลายจะกลับมาเปิดกิจการเดิมอีกครั้ง 


( 10 พ.ค. 64 ) หลังจากสถานการณ์โควิด - 19  ได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศและทั่วโลก ส่งผลกระทบกับประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือนร้อนต้องปิดกิจการลงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุน  อย่างเช่นร้านก๋วยเตี๋ยวปิ่นโตมาเฮง ตั้งอยู่ใกล้ถนนสายบายพาสเลี่ยงเมือง  เลขที่ 202 หมู่ 2 ต.บ้านไร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี  ซึ่งได้ปิดร้านไปก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว จากผลกระทบโควิด ทำให้ลูกค้ามารับประทานอาหารน้อยมาก แม้ว่าทางร้านจะนำต้นไม้ กระถางมาวางขายร่วมกับการขายก๋วยเตี๋ยว เพื่อเพิ่มรายได้ แต่ก็ไม่สามารถพยุงรายจ่ายต่าง ๆในแต่ละเดือนได้ จำเป็นต้องปิดร้านชั่วคราวเพื่อรอสถานการณ์โควิดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น 

   


แต่ด้วยความพยายามและความรอบรู้ของนายกฤตภาส ถิระวารินทร์ยุทธ หรือ น้องกัปตัน อายุ 17 ปี ลูกชายของนางกษิรา  รอดเรืองคุณ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวปิ่นโตมาเฮง ที่มีใจรักและชื่นชอบการปลูกต้นไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ใบต่าง ๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก ได้มีแนวคิดหันมาทดลองปลูกไม้ใบด่าง หลากหลายสายพันธุ์มาปลูกที่บ้าน ปรากฏว่าได้โพสต์เฟซบุ๊กขายตามเพจกลุ่มคนรักพันธุ์ไม้เกิดความสนใจสั่งซื้อไปปลูกกันคึกคัก  

 


โดยเฉพาะไม้ใบกลุ่มสายพันธ์ตระกูลฟิโรเดนดรอน ที่จะมีชื่อเรียกในวงการต้นไม้ว่าโกลเด้นดราก้อน หรือ ชื่อ มังกรด่าง และสายพันธุ์ฟิโรเดนดรอน หรือ บิลิติเอ้ โคล์ ลักษณะก้านสีส้มด่าง  ลักษณะใบจะมีรอยด่าง บางใบก็จะด่างเต็มใบ ด่างครึ่งใบ บางต้นแต่ละใบด่างไม่เหมือนกัน มีราคาเล่นหาขายกันตั้งแต่หลักพันบาทขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น หรือหลักแสนบาท   

   

         

นอกจากนี้ยังมีไม้ใบอีกหลายชนิด เช่น ต้นเงินไหลมา ลักษณะใบลายด่างคล้ายรูปหัวใจ ต้นพูระเบิด ราคาที่ตัดใบปักชำในกระถางเตรียมส่งราคาตั้งแต่ หลัก 3,500 บาทขึ้นไป ที่นี่ยังมีใบอีกหลายชนิดที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้รักไม้ใบ และยังมีต้นกล้วยใบด่างที่มีราคาค่อนข้างแพง เช่น พันธุ์แดงอินโด เล่นหากันต้นละหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท  แล้วแต่ต่อรองราคากันได้ โดยใช้ช่องทางการจัดส่งทางไปรษณีย์ ประมาณ 2 - 3 วันก็จะถึงมือลูกค้ามีทั้งในประเทศ และยังมีลูกค้าจากต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนามให้ความสนใจสั่งซื้อเข้ามาด้วย 

 


 
นายกฤตภาส ถิระวารินทร์ยุทธ หรือ น้องกัปตัน วัย 17 ปี ที่ชอบเล่นไม้ใบด่าง กล่าวว่า ไม้ใบด่างบางต้นขายราคาหลักหมื่นบาท ใบลายจะเป็นลักษณะการด่างของมัน แต่ละใบจะไม่เหมือนกัน สาเหตุที่แพงเพราะแต่ละใบจะลายแตกต่างไม่เหมือนกัน เป็นความพิเศษของไม้ด่าง  บางใบก็จะมีสีเขียวทั้งใบ  บางใบก็จะด่างฮาร์ฟ  ถ้าขาวล้วนจะเรียกว่าเผือก อยู่ในต้นเดียวกันมันถึงราคาแพง  จะปลูกเหมือนไม้ทั่วไป แต่ลวดลายไม่สามารถกำหนดได้  ขึ้นอยู่ที่เซลไม้ด้วย ถ้าเซลดี หน้าตาก็จะด่างทุกใบ บางทีเซลไม่ดีก็จะออกมาเขียวหมด อย่างต้นที่เตรียมส่งไปขายให้ลูกค้าที่สั่งจอง จากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นความชอบเฉพาะบางกลุ่มก็จะซื้อมาเก็บเลี้ยงสะสมไว้ 


ส่วนไม้ชนิดอื่นก็จะแพงบางชนิด อย่างโกเด้นดราก้อน ใบหนึ่งราคาประมาณ 7 - 9 หมื่นบาท ต่อใบ สาเหตุที่แพงเพราะตัวนี้จะเป็นข้อ ถ้าคนในวงการก็จะรู้ว่าเป็นไม้ข้อ  และที่เห็นจะมียอดที่แตกออกมาใหม่จะมีด่าง อีกใบจะเขียวทำยาก  ราคาก็เลยแพง บางคนที่ซื้อไปก็จะเอาไปนั่งชมความสวย  บางคนซื้อเพื่อไปขาย  บางคนซื้อเพื่อส่งต่างประเทศ  เพาะไม้ใบด่างจะอยู่ในแสงแดดรำไรอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส บางตัวก็ด่างขึ้นก้าน แต่ไม่ด่างขึ้นใบ  ใบพวกนี้จะไม่ค่อยมีราคา จะมีราคาตรงที่ใบด่าง  เลยตัดใบที่มีลักษณะด่างขายส่งตลาดทางออนไลน์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นตลาดต้นไม้ จะอยู่แถวบางบัวทอง  เราจะส่งขายทางไปรษณีย์ให้ลูกค้า  ชอบเพาะเลี้ยงไม้ด่างมาได้เกือบปีแล้ว  ช่วงโควิดระบาด ก็ยังพอหันมาเพาะเลี้ยงไม้ใบด่างส่งขายอยู่กับบ้านเลี้ยงครอบครัวได้  มีพันธุ์ไม้หลากหลายสายพันธุ์ อย่างเช่น ต้นใบตำลึง ที่มีปลูกขึ้นตามบ้านทั่วไป แต่ที่ มีลักษณะเป็นใบด่างหายาก ถ้ามีเพาะจำหน่ายได้ราคาดีด้วย 

 


สำหรับใครสนใจก็มีเบอร์ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 063-2285985  หรือ เฟซบุ๊กส่วนตัว นายกฤตภาส ถิระวารินทร์ยุทธ  สามารถให้คำปรึกษาการเพาะเลี้ยงได้ นอกจากนี้ที่ร้านจะจำหน่ายต้นไม้ ไม้ดอก  ไม้ผล ไม้ใบ ไม้ประดับหลายชนิดแล้ว  ยังมีให้บริการปลูก จัดสวน ให้ถึงบ้านอีกด้วย                                             

/////////////////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา  แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี





"ไม้ใบด่าง"สร้างรายได้ "ไม้ใบด่าง"สร้างรายได้ Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 02:53 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.