ทหารช่างสร้างรพ.สนาม

ทหารช่างสร้างรพ.สนาม รับผู้ป่วยโควิดขนาด๗๔๐เตียง

รองเสนาธิการทหารบก (๕) /ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – ๑๙ กองทัพบก  ตรวจความพร้อมของพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพบก ของกรมการทหารช่าง ณ  โรงพลศึกษา ๑  ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง  ค่ายบุรฉัตร  จังหวัดราชบุรี

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๔ พลโท สันติพงศ์  ธรรมปิยะ  รองเสนาธิการทหารบก (๕) /ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กองทัพบก พร้อมด้วย นายรณภพ  เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และคณะ เดินทางมาตรวจความพร้อมการเตรียมการพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพบก ของกรมการทหารช่าง เพื่อรองรับกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 สนับสนุนรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงพลศึกษา ๑ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมี พลโท สุทิน เบญจวิไลกุล เจ้ากรมการทหารช่าง ให้การต้อนรับ และนำตรวจพื้นที่ในครั้งนี้


จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19 ซึ่งรัฐบาล โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด และกระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนกำหนดมาตรการ ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่ ธันวาคม ๒๕๖๒ โดยในส่วนของกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ทุกหน่วยของกองทัพบก ใช้ศักยภาพให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID – 19 อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลและการช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ที่ผ่านมา กองทัพบก ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและให้การสนับสนุน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดในทุกด้าน ครอบคลุมเรื่องการป้องกันเชื้อจากภายนอกประเทศและพื้นที่ตอนใน การให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการคลี่คลายสถานการณ์ ในแต่ละจังหวัด การนำศักยภาพทางการแพทย์ทหาร สนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยงานสาธารณสุขในการดูแลผู้ติดเชื้อ

สำหรับในเรื่องการเตรียมโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งกองทัพบก ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เพื่อเป็นการลดภาระงานด้านการรักษาพยาบาลของหน่วยงานสาธารณสุข และเป็นการใช้ศักยภาพของกองทัพบกในการดูแล ช่วยเหลือประชาชนในวิกฤตโรคระบาด อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์กำลังพลให้มีร่างกายแข็งแรง สามารถดำรงการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน โดยในปัจจุบัน กองทัพบก ได้ใช้สถานที่ในหน่วยทหารและสิ่งอุปกรณ์ที่มีอยู่ ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมรองรับผู้ติดเชื้ออาการไม่หนักแล้วในขั้นต้น จำนวน ๑๖ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ๑๒ จังหวัด รองรับผู้ติดเชื้อได้ ๒,๕๕๖ เตียง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ๒ แห่ง (กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ ๑  เขตหลักสี ขนาด ๒๐๐ เตียง และอาคารรับรองเกียกกาย เขตดุสิต ขนาด ๘๖ เตียง) ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด ๑๐๐ เตียง , นนทบุรี ขนาด ๒๐๐ เตียง , กาญจนบุรี ขนาด ๓๐๐ เตียง , ราชบุรี ขนาด ๗๔๐ เตียง , ลพบุรี ขนาด ๑๕๐ เตียง , ปราจีนบุรี ขนาด ๑๕๐ เตียง , นครราชสีมา ขนาด ๒๕๐ เตียง , ร้อยเอ็ด ขนาด ๙๐ เตียง , เพชรบูรณ์ ขนาด ๙๐ เตียง , พิษณุโลก ขนาด ๑๕๐ เตียง และนครศรีธรรมราช ขนาด ๕๐ เตียง  

โดยล่าสุด โรงพยาบาลสนามกองทัพบกที่เปิดให้บริการรับผู้ติดเชื้อเข้าพักและเป็นโรงพยาบาลที่ใช้บุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพบก เข้าบริหารจัดการมี ๒ พื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลสนามกองทัพบกเกียกกาย (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) และโรงพยาบาลสนามกองทัพบกศูนย์การทหารราบ (โรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์) และในสัปดาห์นี้ กองทัพบก ได้ส่งมอบโรงพยาบาลสนามในพื้นที่กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ ๑ ให้กับกระทรวงสาธารณสุขเข้าบริหารจัดการและเปิดรับผู้ติดเชิ้อต่อไป ส่วนโรงพยาบาลสนามในพื้นที่อื่น ๆ มีความพร้อมในการเปิดให้บริการรักษาพยาบาลโดยเป็นไปตามการพิจารณาและร้องขอของกระทรวงสาธารณสุข


ด้วยเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารบก ที่ย้ำอยู่เสมอว่า กองทัพบกและกำลังพล จะต้องเสียสละ ทุ่มเทศักยภาพในทุกด้าน ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อดูแลประชาชน ให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤต COVID – 19 ได้อย่างปลอดภัย ร่วมกันทำให้สังคมไทยกลับมาเข้มแข็ง และประเทศเดินหน้าต่อไป

----------------------------------






ทหารช่างสร้างรพ.สนาม ทหารช่างสร้างรพ.สนาม Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 02:18 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.