กะเหรี่ยงพุระกำได้เฮ!

กะเหรี่ยงบ้านพุระกำได้เฮ!  รับข่าวดีได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับป่า  รัฐยืนยันอนุญาตให้อยู่อาศัยชั่วลูกชั่วหลานภายในเดือนมีนาคม 2564 แน่นอน หมายความว่า ชาวบ้านจะมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ชาวบ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เฮรับข่าวดี ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศ ตามโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่า และสัตว์ป่า ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 121 ช่วยลดความหวาดผวาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 

              

( 28 ก.ย. 63 ) ที่ศาลาหมู่บ้านพุระกำ หมู่ที่ 6 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ได้มีการจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้ความรู้กับชาวบ้านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง จากกรณีที่จะมีโครงการเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้งขึ้น ทำให้ชาวบ้านเกือบ 100 หลังคาเรือนหวาดวิตก จนมีการขึ้นป้ายคัดค้านการก่อสร้างไว้รอบหมู่บ้าน ไม่ต้องการที่จะอพยพย้ายครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่น ตามที่รัฐเตรียมจัดสรรให้ 


ล่าสุดวันนี้ ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี  พร้อมคณะลงพื้นที่ให้ความรู้กับชาวบ้าน กรณีที่จะมีโครงการพื้นที่นำร่องคนอยู่ร่วมกับผืนป่า และสัตว์ป่า บ้านพุระกำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี  ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.  2562 มาตรา 121 โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้มีหน่วยทหารจากกองพลพัฒนาที่ 1 เจ้าหน้าที่กรมทหารพรานที่ 11 เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังข้อมูล


 
ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า มีโอกาสมาพบปะพูดคุยชาวบ้านพุระกำ 2 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของหมู่บ้านนี้ ซึ่งได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว และมายืนยันกันกับชาวบ้านว่าที่ชุมชนแห่งนี้จะได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยชั่วลูกชั่วหลานภายในเดือนมีนาคม 2564 แน่นอน หมายความว่า ชาวบ้านจะมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจากเดิมที่ทุกคนมีความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะในทางกฎหมายแล้วชุมชนนี้เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตมีความพยายามจะแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังแก้ไขได้ไม่เสร็จสิ้น แต่ก็มาสำเร็จภายในปี 2564 ไตรมาสแรกแน่นอน ถือเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทยเป็นสิ่งที่ภูมิใจ

           

ประเด็นที่ 2 คือ มีข่าวร้าย คือ ท่ามกลางข่าวดีที่นำมาพูดคุยกับชาวบ้านนั้น ทางชาวบ้านบอกว่าพื้นที่บริเวณนี้กำลังจะถูกโครงการของหน่วยราชการแห่งหนึ่งมาสร้างเขื่อน  สร้างอ่างเก็บน้ำ ทำให้หมู่บ้านรวมถึงที่ดินทำกินที่ตกทอดกันมาและกำลังจะได้รับการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลจะถูกน้ำท่วมหมด และต้องอพยพไปทำมาหากินที่อื่น   

       

ตนเองได้ขอพูดในนามสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้มาขับเคลื่อนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  จะบอกว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเป็นเป้าหมายใหญ่ของรัฐบาลนี้ เพราะจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นโครงการใดๆก็ตามที่จะเข้ามากระทบทำให้นโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินไม่ประสบความสำเร็จ โครงการเหล่านั้นจะต้องเลิกไป เช่น เดียวกับโครงการสร้างเขื่อน สร้างอ่าง ก็จะต้องยกเลิกไปด้วยสถานภาพที่ดินชุมชนนี้ไม่ใช่ชุมชนที่อยู่ในป่าโดยทั่วไปอีกแล้ว เพราะเป็นชุมชนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ และเมื่อมาดูข้อมูลในทางวิชาการเห็นได้ว่าความอุดมสมบูรณ์สัตว์ป่า มีสมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ หมี ปลา ปู ในลำน้ำ ซึ่งหลายชนิดพันธุ์เป็นปลาที่สูญหายไปแล้ว หลายชนิดพันธุ์จะอยู่ได้เฉพาะน้ำชั้นดีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ต้นน้ำลำธารแห่งนี้ควรต้องร่วมกันรักษาไว้ เพื่อไว้เป็นสมบัติร่วมกันของคนไทย  ประเด็นสุดท้ายพี่น้องชาติพันธุ์ เป็นพี่น้องชายขอบ รัฐมีหน้าที่ดูแลปกป้อง รักษาสิทธิ เพราะรัฐบาลจะต้องดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน 

                     

นางสาว อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ให้การบ้านกับกรมชลประทานมาว่า ให้มาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้มีการสำรวจชนิดพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกใหม่อีกครั้งบริเวณพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมและเลยพื้นที่น้ำท่วมไปอีก 5 กม. พื้นที่น้ำท่วมทั้งหมดอยู่ประมาณ 2 พันไร่ จะเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ประมาณ 1,600 ไร่ และเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินประมาณ 400 ไร่  อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีทั้งหมด  


 
จากการสำรวจเดินประมาณ 3 วัน ตามเส้นน้ำที่บริเวณพื้นที่น้ำท่วม เดินลัดเลาะไปเจอปลาทั้งหมด 29 ชนิด และปู 2 ชนิด แต่ว่าชนิดปลา 29 ชนิดนั้น เป็น 9 ชนิดที่พบต้องอยู่ในคุณภาพน้ำดีเท่านั้น ต้องเป็นน้ำไหลมีออกซิเจนเยอะบริเวณต้นน้ำด้านบน เช่น ปลาซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำคือ ปลาแขยงเขาแม่กลอง แต่ตัวที่พบที่ราชบุรีเท่านั้นคือ ปูสวนผึ้ง ชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า “ชแวทุ” จะเป็นสีออกปูนออกสีเทาตัวปานกลาง พบมีที่นี่ที่เดียว และเจอเยอะกว่าปูตะนาวศรี หรือ “ชะแวะบอ” ทั่วประเทศพบมีที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรีเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น  อย่างปลากดักแม่กลองถ้าเปลี่ยนจากระบบนิเวศน์น้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่ง ปลาชนิดนี้จะหายไป หากน้ำเสียหรือมีสารพิษ ปลาเหล่านี้ก็จะอยู่ไม่ได้

              

สำหรับบริเวณพื้นที่ทางขึ้นไปยังหมู่บ้านพุระกำ ก็จะพบการติดป้ายข้อความการคัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมสัญลักษณ์ของชาวบ้านตามเส้นทางไปจนถึงหมู่บ้าน เพื่อแสดงจุดยืนไม่ต้องการอพยพหรือเคลื่อนย้ายไปอยู่พื้นที่แห่งใหม่.. 

                    ///////////////////////////////////////

พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี





กะเหรี่ยงพุระกำได้เฮ! กะเหรี่ยงพุระกำได้เฮ! Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 04:26 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.