ขุดเบ้าขนมครกสู้ภัยแล้ง



คาดปีนี้วิกฤติหนักแล้งมาเร็ว  นำศาสตร์ในหลวง ร. 9 มาปรับใช้  ผลผลิตน่าเป็นห่วง เกษตรกรหลายรายดิ้นอย่างหนัก เพื่อให้ได้น้ำมาบรรเทาเบาบาง


เกษตรกร ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ดิ้นสุดฤทธิ์ หันใช้ศาสตร์ในหลวง ร. 9 ขุดบ่อเบ้าขนมครก สู้วิกฤตปัญหาภัยแล้ง  หลังขาดน้ำอุปโภค และทำการเกษตร  เพื่อพยุงสวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์   

                
( 21 ก.พ. 63 ) ผู้สื่อข่าวรายงาน สภาพพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ขณะนี้กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และมีแนวโน้มเริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับเกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าลุกไหม้เสียหายไปแล้วหลายพันไร่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินของราษฎร ทำให้ขณะนี้เกษตรกรหลายรายที่มีที่ดินทำกินเกี่ยวกับการปลูกผัก ผลไม้  ต้องดิ้นรนหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสู้กับวิกฤตภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในระยะข้างหน้านี้  บางคนได้ลงทุนนำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดบ่อ  หวังที่จะพบแหล่งน้ำ ทำการเกษตร ผัก ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์ของตัวเองให้อยู่รอดพ้นปัญหาภัยแล้ง ขณะนี้ปัญหาการขาดน้ำ เริ่มได้รับผลกระทบรวมทั้งสวนผลไม้ที่อยู่ระหว่างการออกดอก ออกผล บางต้นเริ่มมีลูกขนาดใหญ่ใกล้จะเก็บเกี่ยวตัดขายได้ ซึ่งถ้าขาดน้ำช่วงนี้จะส่งผลกระทบทำให้ดอกร่วง ผลไม้บางชนิด ถ้าติดลูกแล้วขาดน้ำ ก็จะทำให้ผลหล่นร่วงได้รับความเสียหาย

             
นางสาวิไล กุลไทย อายุ 48 ปี  อยู่บ้านเลขที่  86 หมู่ 5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ เจ้าของสวนลุงรวย เปิดเผยว่า พื้นที่กว่า 30 ไร่ ที่สวนจะปลูกแบบผสมผสาน มีทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง  กระท้อน มะยงชิด อย่างทุเรียนกว่า 200 ต้น  เงาะ กว่า  100 ต้น ลองกอง เกือบ 20 ต้น มะยงชิด 12 ต้น    ปีนี้ผลผลิตออกดี อยู่ระหว่างช่วงออกดอก แต่มีปัญหาเรื่องน้ำทำการเกษตร ทำให้ต้องพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บ เดิมที่สวนมีบ่อน้ำอยู่แล้วจำนวน 2 บ่อ  สูบน้ำขึ้นมารดผลไม้ทุกวัน ทำให้ต้องพยายามขุดเจาะบ่อให้ลึกกว่าเดิม เพื่อให้เจอตาน้ำจะได้มีปริมาณเพิ่มไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทุกอย่างลงทุนทำเองหมดเงินไปกว่า 30,000 บาท ถ้าปีนี้ปริมาณน้ำมีเพียงพอ น่าจะได้ผลผลิตดีเยอะ แต่ยังหวั่นใจกลัวปัญหาเรื่องน้ำอยู่  เนื่องจากตอนนี้มีทุเรียนอยู่ในช่วงบางต้นกำลังออกดอกอยู่ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ดอกทุเรียนร่วงหล่น  หากต้นที่เป็นลูกแล้วก็จะร่วงหล่น เพราะผลผลิตที่สวนจะได้เงินเพียงปีละ 1 ครั้ง  มีบางต้นที่จะมีทุเรียนทวายจะออกลูกทั้งปี  ขายทั้งปี ได้ตัดขายไปแล้ว 1 รอบ ส่วนที่เห็นรอบหน้าคาดว่าจะตัดขายได้ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้  ส่วนเงาะบางต้นเริ่มติดลูกเล็กๆ จะแก่กินได้ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้

                
นายอนุสรณ์ ฤทธิ์ล้ำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ เปิดเผยว่า ตอนนี้มีปัญหาเข้ามาในพื้นที่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องปัญหาไฟป่า ช่วยกับเจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือหลายหน่วยงาน และมาประสบปัญหากับน้ำในลำธารแห้งขอดอีก  โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันตามแนวพระราชดำริ ก็เริ่มแห้งขอดแล้ว ส่งผลให้น้ำในลำห้วยแม่ประจันแห้งทุกจุด  เกษตรกรที่เคยใช้น้ำตามแอ่งน้ำ มีแนวคิดว่าน่าจะทำเบ้าขนมครกตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ขุดบ่อเบ้าขนมครกทำกันมาระยะหนึ่ง แต่ช่วงนี้ประสบปัญหาหนักเนื่องจากเพิ่งเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ก็เจอปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้น ทั้งที่ปีที่ผ่านมาจะเกิดปัญหานี้ช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน  หวั่นใจว่าช่วงที่ทุเรียน เงาะ และผลไม้อื่น ๆ ที่กำลังจะออกดอกติดผลอยู่ จะประสบเจอกับภัยแล้งปลายเดือนมีนาคมนี้ ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย  


ตอนนี้เกษตรกรหลายรายได้นำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดเจาะบ่อน้ำ ลักษณะเป็นเบ้าขนมครกกันเอง เกษตรกรบางรายกลัวเจอปัญหาภัยแล้ง และยังยอมรับไม่ได้กับการที่จะสูญเสียกับผลผลิตอีก 3 เดือนข้างหน้านี้  บางรายได้ขอร้องทางให้หน่วยงานช่วยเหลือ จึงพยายามดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลผิวดิน และได้นำเสนอเรื่องปัญหานี้ต่อนายอำเภอปากท่อให้ช่วยเหลือ บางรายอาจจะต้องเอาเงินของตัวเองออกมาร่วมขุดบ่อบาดาลร่วมด้วย ส่วนกรณีบางจุดอยู่ในเขต ส.ป.ก.  ส.ท.ก. ทางนายอำเภอปากท่อ จะประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล ภาค 8  เป็นกรณีพิเศษ 


ขณะนี้มีเกษตรกรได้เตรียมเอกสารแจ้งสถานที่ขุดเจาะมาแล้ว เพื่อให้ผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ ส่วนด้านน้ำอุปโภค บริโภค จะได้รับความช่วยเหลือจาก อบต.ยางหัก นำรถบรรทุกน้ำออกช่วยเหลือชาวบ้านอยู่  แต่ก็ไม่ทันกับความต้องการของประชาชน และยังมีงบประมาณบางส่วนของ อบต. เรียกว่า งบเป่าล้าง ได้มา 1 จุด ใช้น้ำบาดาลได้ไม่เกิน 40 ครัวเรือน  มีการดำเนินการขุดเจาะแล้ว แต่ไม่มีอุปกรณ์ในการที่จะจ่ายน้ำให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งต้องรองบประมาณอีกช่วงหนึ่ง คิดว่าปีนี้น่าจะวิกฤตกว่าทุกปีที่ผ่านมา 

               
อย่างไรก็ตามพื้นที่ตำบลยางหักอยู่ระหว่างประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่าปกคลุมในพื้นที่แล้ว ก็ยังได้ผลกระทบด้านปัญหาภัยแล้ง และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ  โดยเฉพาะหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเร่งปฏิบัติการทำฝนเทียมช่วยเหลือเติมแหล่งน้ำด้านการเกษตร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่า ที่กำลังปกคลุมอยู่บริเวณ อ.ปากท่อ อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคาได้อีกทางหนึ่งด้วย  
                                            /////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา   แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี






ขุดเบ้าขนมครกสู้ภัยแล้ง ขุดเบ้าขนมครกสู้ภัยแล้ง Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม on 23:33 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.