เปิดใจ"ทองย้อย แสงสินชัย" อดีตทหารเรือราชบุรีผู้แต่งกาพย์เห่เรือ 2 รัชกาล
อดีตทหารเรือชาวราชบุรี เผยภาคภูมิใจแต่งกาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค รัชกาลที่ 9 ต่อมากองทัพเรือมอบหมายให้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ซึ่งจะมีการเสด็จเลียบพระนคร มีแนวคิดเปิดสอนเยาวชนแต่งกาพย์ โคลง กลอนสืบสานศิลปะ แต่ยังขาดผู้สืบทอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/2 ซอย 1 ถนนเขางู ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือ ให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ว่า ก่อนหน้านี้ทางกองทัพเรือได้มอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในรัชสมัย รัชกาลที่ 9 เสวยพระราชสมบัติ ครบ 50 ปี สมัยนั้นยังรับราชการเป็นทหารเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือในชั้นยศนาวาโท ทางกองทัพเรือเตรียมโครงการเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษก มี 2 โครงการหลักที่จำได้แม่น คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่งองค์ใหม่แทนองค์เดิม และโครงการจัดกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค
โดยกาพย์เห่เรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค อดีตจะมีประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำ มีการสัญจรทางเรือเป็นหลัก แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินเวลาเสด็จพระราชดำเนินก็จะต้องไปทางเรือ จึงมีกระบวนเรือหลายลำเป็นขบวนใช้แรงคนในการพายเรือ ต่อมาทำให้เกิดการร้องเพลงไปด้วยระหว่างพายเรือเพื่อไม่ให้เหนื่อย และเป็นสัญญาณความพร้อมเพรียงถือเป็นปฐมเหตุของการเห่เรือ ส่วนเพลงที่ร้องระหว่างเรือเคลื่อนขบวนนั้น จะนำมาจากคนที่สามารถแต่งกาพย์ยานีมาแต่งกาพย์เห่เรือ กาพย์เห่เรือหมายถึง โคลงสี่สุภาพ 1 บท และกาพย์ยานีอีกจำนวนหนึ่งแล้วแต่ความยาวจะพรรณนาเรื่องอะไรบ้าง โดยรวมโคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานีเข้าด้วยกันเรียกว่ากาพย์เห่เรือ 1 บท ใช้ร้องในเวลาเรือเคลื่อนขบวน มีการนำเรื่องชมเรือ เรียกเป็นคำภายหลังว่า ชมเรือที่ไปกระบวน จะพรรณาความงามของเรือแต่ละลำ เช่น เรือสุพรรณหงส์งามอย่างไร นอกจากนี้ฝีพายที่พายเรือแต่งตัว รวมไปถึงท่าทางที่พายมีความพร้อมเพรียงอย่างไร ในการพรรณาชมกระบวนเรือ นอกจากชมความงามของเรือแล้ว ก็จะมีการพูดถึงการชมธรรมชาติระหว่างทาง กาพย์เห่เรือจะมีหน้าที่นำความงามเหล่านี้มาขับร้อง เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2539 หรือปีกาญจนาภิเษกเรื่อยมา ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือ จากนั้นเมื่อจะมีกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค หรือการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือจัดขึ้นในโอกาสพิเศษคราวที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย เป็นต้น ทางกองทัพเรือก็จะมอบหมายให้ตนเองเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือทุกครั้ง ครั้งล่าสุดปี พ.ศ. 2555 ซึ่งได้เกษียณอายุราชการแล้ว กระทั้งสิ้นรัชกาลที่ 9 คิดว่าคงจะไม่มีกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในเร็วๆนี้หรอก แต่พอกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตามรูปโบราณราชประเพณีจะมี 2 แนวทาง คือ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งต้องมีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทางกองทัพเรือได้เตรียมงานล่วงหน้าอีก และได้มอบหมายให้ตนเองเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือ รัชกาลที่10 จึงประมวลแล้วว่า รัชกาลที่ 9 ก็เป็นผู้แต่งมาทุกครั้ง ถือได้ว่าตนเองเกิด พ.ศ. 2488 ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 8 สิ้นสุดในปี พ.ศ. 2489 ตอนนั้นอายุได้ 2 ปี และทำงานอยู่ในรัชกาลที่ 9 จนมาถึงรัชกาลที่ 10 ถือเป็นคน 3 แผ่นดินของชีวิตที่เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือในพระราชพิธี
สำหรับการแต่งกาพย์เห่เรือในกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นช่วงปลายพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เหมือนขึ้นกับวันใหม่ สดใส มีความสุขเหมือนกับรุ่งอรุณวันใหม่ช่วงเวลาที่จะมีความสุข เป็นการถ่ายทอดความจงรักภักดีออกมาเป็นกาพย์เห่เรือด้วยความสบาย
โดยกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตไทยที่ควรรักษาไว้เนื่องจากมีแห่งเดียวในโลก ซึ่งทั้งโลกให้ความชื่นชมยินดีกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ส่วนกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคมีทั้งหมด 52 ลำ มีเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์
อย่างไรก็ตามอยากจะถ่ายทอดวิชาแต่งกาพย์เห่เรือไปยังลูกหลาน เคยปรึกษาเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี ว่าอยากจะเปิดการสอนศิลปะการเรียนกาพย์ กลอน โคลงให้แก่เด็กที่สนใจให้มาเรียนได้ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร อยากเรียนวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ก็ได้ ยินดีถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ฟรี ทุกคนจะได้ศิลปะได้ความรู้ติดตัวไป คนไหนมีพื้นฐานดีก็จะรับช่วงการแต่งกาพย์เห่เรือก็จะไม่ขาดสูญหายไป แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ที่จะสืบทอด..
สำหรับกาพย์เห่เรือในกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ขอยิบยกบางส่วน ของบทที่ 2 ชมเรือกระบวน
“ ลอยลำงามสง่าแม้น มณีสวรรค์ หยาดโพยมเพียงหยัน ยั่วฟ้า เหมราชผาดผายผัน โผนเผ่น นภาฤๅ พายพะแพรวพรายถ้า ถี่พร้อมผันผยอง เรือเอยเรือพระที่นั่ง งามสะพรั่งเพียงหยาดสวรรค์ พิศองค์หงส์สุวรรณ เพียงผันผยองล่องลอยโพยม หยาดฟ้ามารองบาท งามผุดผาดพิลาสโฉม ฝีมือลือโลกโลม หล้าเลื่องลิบปานทิพย์ทำ นารายณ์ลงลอยล่อง งามผุดผ่องล่องลอยลำ นาคราชผาดโผนนำ ภุชงค์ล้ำเผ่นโผนลอย กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์ อสูรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสูรปักษิน พายผกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน เรือแซงแข่งเรือดั้ง พร้อมสะพรั่งกลางสายชล เรือชัยไฉไลล้น ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย แลลวดลายล้วนเลขา รูปสัตว์หยัดกายา พาโผนเผ่นเป็นทิวแถว เรือน้อยลอยน้ำไหล ล้อมเรือใหญ่ไหววับแวว พร่างพราวราวเพชรแพรว พายพลิ้วกวักพรักพร้อมพาย งามริ้วทิวทางแถว ธงเพริศแพร้วแผ่วปลิวปลาย งามเรือเหลือลวดลาย คล้ายเทพทิพย์หยิบลายผจง อาภรณ์ผ้าแพรพรรณ สวยสีสันสวมทรวดทรง พลพายพายเรือลง ทิวธงถ้วนล้วนเฉิดฉัน เสนาะศัพท์ขับเพลงเห่ เสียงเสน่ห์น้ำสนั่น เพลงทิพย์ไป่เทียมทัน กลั่นจากทรวงปวงนาวี ”
//////////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ - จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี
เบื้องหลังกาพย์เห่เรือ
Reviewed by หนังสือพิมพ์มติธรรม
on
18:43
Rating: